คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 531/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การจำนองทรัพย์สินหลายสิ่งเพื่อประกันหนี้รายหนึ่งรายเดียวโดยมิได้ระบุอันดับไว้ แต่ระบุจำนวนเงินจำนองไว้เฉพาะทรัพย์สินแต่ละสิ่ง หากผู้รับจำนองใช้สิทธิบังคับทรัพย์สินทั้งหมดพร้อมกันเช่นนี้ต้องแบ่งภาระแห่งหนี้นั้นกระจายไปตามจำนวนเงินจำนองที่ระบุไว้เฉพาะทรัพย์สิ่งนั้นๆ ซึ่งผลก็คือ หากขายทอดตลาดทรัพย์สิ่งใดได้เงินเกินกว่าจำนวนที่ระบุในสัญญาจำนอง ก็ต้องคืนส่วนที่เกินให้ผู้จำนองไป และทรัพย์สิ่งใดขายได้ไม่คุ้มจำนวนที่ระบุในสัญญาจำนองส่วนที่ขาดก็เป็นอันพับไป จะเอาหนี้จำนองแต่ละรายมารวมกันตั้งเป็นเกณฑ์คำนวณมิได้

ย่อยาว

คดีมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะจำเลยที่ ๔ โดยโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๔ ได้ทำสัญญาจำนองที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างโฉนดที่ ๗๐๔ อำเภอท่าเรือจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในจำนวนเงิน ๓๑๐,๐๐๐ บาท และที่ดินรวม ๑๘ โฉนดอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี จำนวนเงิน ๒๗๐,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นประกันหนี้ตั๋วแลกเงินที่จำเลยที่ ๑ ค้างชำระอยู่ ๒,๗๙๙,๗๒๑.๘๔ บาท ครั้นต่อมาเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑, ๒, ๓ ให้ร่วมกันรับผิดใช้หนี้จำนวนดังกล่าว และหากไม่ชำระก็ให้จำเลยที่ ๔ ชำระแทนในจำนวนเงิน ๕๘๐,๐๐๐ บาท แล้วคู่ความได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาล โดยจำเลยที่ ๑, ๒, ๓ ยินยอมใช้เงินให้โจทก์ ๒,๔๑๘,๐๐๐ บาท กำหนดผ่อนชำระเป็นรายเดือนให้ครบภายใน ๓ ปี มิฉะนั้นให้หาหลักประกันมาเพิ่มเติมจนพอแก่จำนวนหนี้จึงจะมีสิทธิผ่อนชำระต่อไปได้อีก ๒ ปี ส่วนจำเลยที่ ๔ นั้น ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๓ ว่า “จำเลยที่ ๔ ยอมให้ทรัพย์สินของจำเลยที่ ๔ ที่จำนองไว้กับโจทก์เป็นหลักประกันหนี้จำนวนนี้ต่อไป”
หลังจากได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลแล้ว จำเลยที่ ๑, ๒, ๓ ผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงดำเนินการบังคับจำนองโดยยึดทรัพย์ของจำเลยที่ ๔ ออกขายทอดตลาด สำหรับที่ดิน ๑๘ โฉนด จังหวัดสระบุรีนั้นปรากฏว่าขายได้เงิน ๓๘๒,๕๐๐ บาท จำเลยที่ ๔ จึงยื่นคำร้องว่าที่ดิน ๑๘ โฉนดนี้จำนองไว้ในวงเงิน ๒๗๐,๐๐๐ บาท โจทก์จึงมีสิทธิรับเงินจำนวนนี้ไปเท่านั้นส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าธรรมเนียมขายทอดตลาดแล้ว ต้องคืนให้จำเลยที่ ๔ขอให้ศาลอายัดเงินส่วนที่เกินนี้ไว้แก่จำเลยที่ ๔ ด้วย ศาลชั้นต้นนัดพร้อมโจทก์คัดค้านว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น จำเลยที่ ๔ยอมผูกพันรับผิดในหนี้จำนวน ๒,๔๑๘,๐๐๐ บาท เงินที่ขายทอดตลาดจึงยังไม่พอกับจำนวนหนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ ๔รับผิดตามสัญญาจำนองในวงเงิน ๒๗๐,๐๐๐ บาท แต่ภายหลังเมื่อตกลงประนีประนอมยอมความกัน จำเลยที่ ๔ ยอมผูกพันรับผิดในหนี้จำนวน๒,๔๑๘,๐๐๐ บาท จึงไม่มีสิทธิรับเงินที่เหลือคืน ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยที่ ๔มิได้ตกลงรับผิดในหนี้จำนวน ๒,๔๑๘,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นข้อตกลงของจำเลยที่ ๑, ๒, ๓ เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๔ ส่วนข้อความในสัญญาข้อ ๓ ก็เป็นเพียงให้ทรัพย์สินที่จำนองเป็นหลักประกันต่อไป ทั้งเมื่อข้อความเป็นที่สงสัยก็ชอบจะตีความเป็นคุณแก่ผู้ต้องเสียในมูลหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑ จึงต้องถือว่าเป็นการประกันหนี้ตามสัญญาจำนองในจำนวนเงิน ๒๗๐,๐๐๐ บาท เมื่อหักหนี้จำนองดังกล่าวและค่าธรรมเนียมแล้ว ต้องคืนส่วนที่เหลือแก่จำเลยที่ ๔ ส่วนที่โจทก์โต้แย้งว่า หากว่าจำเลยที่ ๔ต้องรับผิดตามจำนวนเงินในสัญญาจำนองเท่านั้น จำเลยที่ ๔ ก็หามีสิทธิรับเงินที่เหลือจากการขายทอดตลาดแปลงดังกล่าวไม่ เพราะจำเลยที่ ๔ยังได้จำนองที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไว้กับโจทก์อีกแปลงหนึ่งในจำนวนเงิน ๓๑๐,๐๐๐ บาท และปรากฏว่าที่ดินแปลงนี้ขายทอดตลาดได้เพียง๑๒๑,๐๐๐ บาท ซึ่งเมื่อรวมกับที่ดิน ๑๘ โฉนดที่ขายได้ ๓๘๒,๕๐๐ บาท ก็ยังไม่ครบจำนวนเงิน ๕๘๐,๐๐๐ บาท ตามที่จำนองไว้ทั้งหมดนั้น ศาลอุทธรณ์ก็เห็นว่า แม้โจทก์เองก็ระบุจำนวนเงินที่จำนองไว้แต่ละแปลง ส่วนที่ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ ๔ ตกลงรับผิด หากทรัพย์สินจำนองยังไม่พอชำระหนี้นั้นจำเลยก็ให้การปฏิเสธ และโจทก์ก็ยังมิได้ส่งสัญญาจำนองต่อศาล และก็ได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อกันแล้วในชั้นหลังจึงจะแปลไปในทางที่จะต้องรับผิดตามที่อ้างในฟ้องไม่ได้ เมื่อที่ดิน๑๘ โฉนดขายได้เกินกว่าหนี้จำนอง จำเลยที่ ๔ จึงมีสิทธิรับเงินส่วนที่เหลือพิพากษากลับ ให้จ่ายเงินส่วนที่เหลือคืนแก่จำเลยที่ ๔
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งมีข้อความว่า จำเลยที่ ๔ ยอมให้ทรัพย์สินที่จำนองไว้เป็นหลักประกันหนี้สำนวนต่อไป คำว่าหนี้จำนวนนี้ต้องแปลว่าจำเลยที่ ๔ ยอมรับผิดในหนี้จำนองในหนี้จำนองต่อไปเท่านั้น ส่วนในปัญหาที่ว่าจำเลยที่ ๔ ได้จำนองที่ดินไว้ ๒ ราย คือรายจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวงเงิน ๓๑๐,๐๐๐ บาท และที่ดิน ๑๘ โฉนดจังหวัดสระบุรี ในวงเงิน ๒๗๐,๐๐๐ บาท เมื่อบังคับจำนองขายทอดตลาดที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้เงิน ๑๒๑,๐๐๐ บาท ต่ำกว่าสัญญาจำนองและที่ดินจังหวัดสระบุรี ขายทอดตลาดได้ ๓๘๒,๐๐๐ บาท สูงกว่าสัญญาจำนองแต่เมื่อรวมเงินที่ขายทอดตลาดทั้งสองแห่งก็ยังไม่พอกับหนี้จำนองทั้งหมด๕๘๐,๐๐๐ บาท โจทก์จึงชอบที่จะได้รับเงินที่ขายทอดตลาดจำนองทั้งหมดนั้นศาลฎีกาเห็นว่า เรื่องนี้เป็นการจำนองทรัพย์หลายสิ่งเพื่อประกันหนี้รายหนึ่งรายเดียวโดยมิได้ระบุลำดับไว้ แต่ก็ได้ระบุเงินจำนองไว้เฉพาะทรัพย์สินแต่ละสิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๓๔ วรรค ๒เมื่อผู้รับจำนองใช้สิทธิบังคับแก่ทรัพย์สินทั้งหมดพร้อมกัน ได้กำหนดให้แบ่งกระจายภาระแห่งหนี้ไปตามจำนวนเงินจำนองที่ระบุไว้เฉพาะทรัพย์สิ่งนั้น ๆ ซึ่งหมายความว่าทรัพย์สิ่งใดขายทอดตลาดได้เงินเกินกว่าจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาจำนอง เงินส่วนเกินก็ต้องคืนให้ผู้จำนองไป และทรัพย์สิ่งใดขายทอดตลาดได้ไม่คุ้มจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาจำนอง ส่วนที่ขาดอยู่ก็เป็นอันพับไปโจทก์จะเอาหนี้จำนองทั้ง ๒ รายมารวมกันตั้งเป็นเกณฑ์คำนวณหาได้ไม่ ส่วนที่ว่าจำเลยที่ ๔ ตกลงรับผิดเกินกว่าทรัพย์สินที่จำนองไว้นั้น เห็นว่าข้อนี้จำเลยที่ ๔ ได้ปฏิเสธต่อสู้ไว้ และในสัญญาประนีประนอมยอมความก็มิได้กล่าวถึง ทั้งสัญญาจำนองโจทก์ก็มิได้ส่งศาล จึงไม่มีหลักฐานที่โจทก์ต้องนำสืบเพื่อชี้ให้เห็นข้อตกลงดังที่อ้าง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ ๔ ได้รับคืนส่วนที่เกินจากการขายทอดตลาดที่ดิน ๑๘ โฉนดจังหวัดสระบุรี ภายหลังหักหนี้จำนอง ๒๗๐,๐๐๐ บาท และค่าธรรมเนียมขายทอดตลาดออกแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน

Share