คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 86-88/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องความผิดตามพระราชบัญญัติเช็ค ฯ ไม่จำเป็นต้องระบุวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เมื่อบรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับการที่จำเลยออกเช็คโดยเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น และการปฏิเสธการจ่ายเงินจากธนาคารอันเป็นองค์ประกอบความผิดแล้ว ย่อมเป็นฟ้องสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยรวม ๓ สำนวน ซึ่งศาลมีคำสั่งให้พิจารณารวมกันในข้อหาออกเช็คสั่งจ่ายแก่โจทก์รวม ๓ ฉบับ ตามรายละเอียดในฟ้องทั้ง ๓ สำนาวน โดยเจตนาไม่ใช้เงินตามเช็ค ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓
จำเลยปฏิเสธฟ้องทั้ง ๓ สำนวน
ศาลชั้นต้นพิจารณาว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คของจำเลยที่ ๒ ซึ่งมิได้ออกในนามห้างหุ้นส่วนฯ จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๒ คดีฟังได้ว่าจำเลยที่ ๒ ออกเช็คโดยเจตนาไม่ใช้เงิน พิพากษาจำคุกจำเลยสำนวนละ ๖ เดือน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ ทั้ง ๓ สำนวน
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา ซึ่งศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่สมบูรณ์หรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาจำเลยที่โต้แย้งว่าฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์เพราะโจทก์มิได้ระบุวันเวลาที่ธนาคารเช็คพิพาทปฏิเสธการจ่ายเงินว่าโจทก์ทั้ง ๓ สำนวนได้บรรยายถึงวันเวลาที่จำเลยออกเช็คพิพาทแก่โจทก์ และระบุถึงวันที่โจทก์นำเช็คไปเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารมิตซุย จำกัดเพื่อให้เรียกเก็บจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาพาหุรัด ซึ่งเป็นธนาคารเช็คพิพาท ถือว่าได้ระบุวันเวลาที่จำเลยออกเช็ค อันเป็นวันที่จำเลยเริ่มต้นกระทำการอันจะก่อให้เกิดความผิดและความผิดนั้นได้เกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน แม้โจทก์ไม่ได้ระบุวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินก็ตาม ก็เป็นการเพียงพอที่ถือได้ว่าโจทก์ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุซึ่งการกระทำผิดเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้แล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ (๕) ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์แล้ว
พิพากษายืน.

Share