แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยมีปากเสียงกับพวกผู้ตายก่อนเกิดเหตุ เมื่อผู้ตายเดินมาหาพวก ซึ่งพากันออกมายืนหน้าร้านพร้อมกับจำเลย ผู้ตายก้มลงเก็บของตกห่างจำเลยประมาณ 2 วา จำเลยซึ่งมีอาการเมาสุราอยู่ด้วย สำคัญผิดว่าผู้ตายจะทำร้ายตนจึงชักปืนยิงผู้ตาย เช่นนี้เป็นการเข้าใจโดยไม่มีเหตุอันควร และแม้ความสำคัญผิดจะเกิดจากความประมาทก็เป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุ การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันตัวที่เกินสมควรแก่เหตุ
ความผิดฐานลอบฝัง ซ่อนเร้น ย้ายหรือทำลายศพตาม มาตรา199 จะต้องกระทำด้วยความมุ่งหมายเพื่อปิดบังการตายหรือเหตุแห่งการตาย จึงจะเข้าองค์ประกอบความผิด
ความผิดตามมาตรา 200ฐานเป็นเจ้าพนักงานกระทำหรือละเว้นกระทำในตำแหน่งอันมิชอบ จะต้องมีความมุ่งหมายเพื่อช่วยบุคคลอื่น จึงจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ หากเพื่อช่วยเหลือตัวผู้กระทำผิดเอง และเกิดเสียหายแก่ผู้อื่น ย่อมเป็นความผิดตาม มาตรา 157
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยฆ่าผู้ตายโดยสำคัญผิดอันเกิดจากความประมาท โจทก์ฎีกาให้ลงโทษฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาได้ เพราะเป็นปัญหาเรื่องกรรมเดียวเป็นผิดกฎหมายหลายบท เมื่อศาลล่างลงโทษจำคุกจำเลย 6 ปีจึงไม่ต้องห้ามฎีกา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ รักษาการในตำแหน่งผู้บังคับกองสถานีตำรวจภูธรบังอาจกระทำผิดหลายบทกระทง คือ๑. ใช้อาวุธปืนยิงนายเสือ พุ่มจันทร์ ถึงแก่ความตายโดยเจตนา ๒. ใช้อาวุธปืนยิงขู่ขัดขวางมิให้นายสุทินกับพวกกล้าเข้ามาแจ้งความที่สถานีตำรวจภายหลังเกิดเหตุแล้ว ๓. สั่งการวานใช้ให้ย้ายศพผู้ตายไปเผาโดยไม่มีการชันสูตรพลิกศพ ๔. ใช้ให้พลตำรวจเสนอบันทึกข้อความซึ่งจำเลยรู้ว่าเป็นความเท็จลงในสมุดรายงานเบ็ดเสร็จประจำวัน ๕. ทำสำนวนการสอบสวนบิดเบือนความจริง ใช้อุบายหลอกลวงให้พยานลงชื่อในคำให้การโดยไม่อ่านให้ฟัง และละเว้นไม่สอบสวนพยานอีกหลายคนซึ่งการกระทำทั้งหมดนี้เป็นการปฏิบัติและละเว้นปฏิบัติการในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อช่วยตัวเองมิให้ต้องรับโทษ และเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๒๐๐, ๑๙๙, ๑๕๗,๘๔ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๑๓ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๔๙, ๑๕๐, ๑๕๔ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๕ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๘ ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อหา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานใช้อาวุธปืนยิงนายเสือตายโดยสำคัญผิดอันเกิดจากความประมาทว่าผู้ตายเป็นคนร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบมาตรา ๖๒ วรรค ๒ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๙๑ จำคุกไว้ ๖ ปีกระทงหนึ่ง ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขัดขวางไม่ให้นายสุทินกับพวกแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๑๓ให้จำคุกจำเลยไว้ ๒ ปี กระทงหนึ่งและฐานจัดการและสั่งการให้ลอบย้ายและทำลายศพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๙, ๘๔ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๔๙ อันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงตามมาตรา ๑๙๙ อันเป็นบทหนักโดยให้จำคุกไว้มีกำหนด ๑ ปี อีกกระทงหนึ่ง รวมเรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งหมดมีกำหนด๑๐ ปี ให้ริบของกลาง คำขออื่นให้ยก
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยสำคัญผิดว่าจะทำร้ายจำเลยด้วยความประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบด้วยมาตรา ๖๒ วรรค ๒ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๙๑ กระทงหนึ่งฐานเป็นเจ้าพนักงานสั่งให้ย้ายศพผู้ตายกระทงหนึ่ง ฐานสั่งให้พลตำรวจเสนอบันทึกข้อความเท็จลงในสมุดรายงานเบ็ดเสร็จประจำวัน ฐานทำสำนวนสอบสวนไม่ตรงกับความจริงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๑๓ ส่วนข้อหาว่าขัดขวางนายสุทินกับพวกมิให้แจ้งความและทำลายศพผู้ตายฟังว่าไม่ผิด ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๙๑ ซึ่งเป็นกระทงหนักที่สุดตาม มาตรา ๙๑ จำคุกไว้ ๖ ปีริบของกลางข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงในข้อหาฆ่าผู้ตายว่าก่อนเกิดเหตุ จำเลยมีปากเสียงกับนายสุทินกับพวกในร้านอาหาร เมื่อออกจากร้าน ผู้ตายออกจากป้อมยามตำรวจตรงมาที่นายสุทินกับพวกขณะห่างจากจำเลยประมาณ๒ วา ผู้ตายทำของตกก้มลงเก็บ ขณะนั้นจำเลยซึ่งมีอาการเมาสุราด้วยน่าจะสำคัญผิดว่าผู้ตายจะทำร้ายตน จึงชักปืนยิงผู้ตายอันเป็นการเข้าใจเหตุการณ์เองโดยไม่มีเหตุสมควร และแม้จะถือว่าการสำคัญผิดเกิดขึ้นด้วยความประมาท การกระทำของจำเลยก็เป็นการเกินสมควรแก่เหตุจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘ ประกอบมาตรา ๖๘, ๖๙ในข้อหาขัดขวางนายสุทินกับพวกแจ้งความและไม่รับแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ฟังว่าผิด แต่มิใช่กระทำเพื่อจะช่วยผู้อื่นมิให้ต้องรับผิดจึงเป็นผิดตามมาตรา ๑๕๗ ไม่ผิดตามมาตรา ๒๐๐ ในข้อหาสั่งให้พลตำรวจเสนอบันทึกข้อความเท็จ ฟังว่าเท็จ เฉพาะเรื่องราวขณะเกิดเหตุไม่เท็จในเรื่องชัณสูตรพลิกศพ และฟังว่าผิดในข้อหาทำสำนวนสอบสวนเท็จแต่เนื่องจากมิใช่ทำเพื่อให้ผู้อื่นพ้นผิดจึงเป็นผิดตามมาตรา ๑๕๗มิใช่มาตรา ๒๐๐ ส่วนในข้อหาลอบย้ายทำลายศพ กรณีฟังไม่ได้ว่าเป็นการทำเพื่อปิดบังการตายหรือเหตุแห่งการตายและไม่เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต จึงไม่เป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗, ๑๙๙ และ ๒๐๐ ประเด็นข้อสุดท้ายที่จำเลยแก้ฎีกาว่าโจทก์ฎีกาในข้อหาฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาไม่ได้เพราะศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันมา ให้ยกฟ้องความผิดฐานนี้เห็นว่าการที่จำเลยยิงผู้ตายจะเป็นผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาหรือโดยประมาท เป็นปัญหากรรมเดียวผิดกฎหมายบทใดบ้าง เมื่อศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย ๖ ปี จึงไม่ต้องห้ามฎีกาตามมาตรา ๒๑๙พิพากษาแก้ว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่านายเสือตายโดยเจตนาโดยการป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘ ประกอบด้วยมาตรา ๖๘, ๖๙ จำคุก ๖ ปีกระทงหนึ่ง และมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยขัดขวางและไม่รับแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษและสั่งให้พลตำรวจเสนอ นิ่มคำ บันทึกลงในสมุดรายงานเบ็ดเสร็จประจำวันตามฟ้องข้อ (ง) และตามฟ้องข้อ (ฉ)ทำสำนวนการสอบสวนไม่ตรงกับความจริงตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓ อีกกระทงหนึ่ง แต่ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๘๘ประกอบด้วยมาตรา ๖๘, ๖๙ ซึ่งเป็นกระทงที่หนักที่สุดตามมาตรา ๙๑จำคุก ๖ ปี ริบหัวกระสุนของกลาง ข้อหาของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย