แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อปี พ.ศ.2527 โจทก์ถูกลงโทษด้วยการลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้นและถูกตักเตือนเป็นหนังสือ ได้รับการล้างมลทินตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนมพรรษา 60 พรรษา พ.ศ.2530 เฉพาะการถูกลดขั้นเงินเดือนซึ่งเป็นโทษทางวินัยที่ได้รับไปแล้วเท่านั้น ส่วนการตักเตือนเป็นหนังสือซึ่งตามข้อบังคับของจำเลยมิได้ถือเป็นโทษ จึงไม่ได้รับการล้างมลทิน ต้องถือว่าการที่โจทก์เคยถูกตักเตือนเป็นหนังสือยังมีอยู่ การที่โจทก์มากระทำผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลยคือในปี พ.ศ.2529 แต่ไม่ได้รับการล้างมลทินเพราะยังไม่ถูกลงโทษ เมื่อจำเลยพบการกระทำผิดหลังจากที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับแล้วก็นำเหตุดังกล่าวมาลงโทษให้โจทก์ออก จากงานตามข้อบังคับของจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ครั้งสุดท้ายตำแหน่งผู้จัดการสายการเดินรถประจำทางสาย ๙๙ ต่อมาวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ จำเลยได้มีคำสั่งที่ ๕๗/๒๕๓๑ ให้โจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๓๐ โดยกล่าวหาว่าโจทก์ปล่อยปละละเลยไม่ตรวจตราควบคุมเอกสารการทำงานของพนักงานให้เป็นไปโดยเรียบร้อย เป็นเหตุให้จำเลยเสียหาย และโจทก์เคยกระทำผิดเช่นนี้จนถูกลงโทษทางวินัย ลดขั้นเงินเดือนและเตือนเป็นหนังสือแล้วเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๗ แต่ไม่ประพฤติตัวให้ดีขึ้นเป็นความผิดวินัยตามข้อบังคับฉบับที่ ๔๖ (พ.ศ.๒๕๒๔) ซึ่งมีโทษตามข้อ ๙.๒,๙.๓,๙.๖ และ ๙.๘ ข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ตาม จำเลยจะอาศัยเหตุดังกล่าวปลดโจทก์ออกจากงานไม่ได้กล่าวคือจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานภายหลังจากที่พระราชบัญญัติล้างมลทินใช้บังคับแล้ว ซึ่งมีผลทำให้โทษที่โจทก์ได้รับเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ ถูกยกเลิกไป โดยถือว่าโจทก์ไม่เคยถูกลงโทษหรือต้องโท ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ ๕๗/๒๕๓๑ ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่ง อัตราค่าจ้าง และสภาพการจ้างที่ไม่ต่ำกว่าเดิมโดยนับอายุงานต่อกับให้จำเลยจ่ายค่าจ้างหรือค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า เหตุที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะตรวจพบว่าในการจัดทำเอกสารเพื่อเบิกจ่ายเงินผลประโยชน์ให้แก่พนักงาน ได้ร่วมกับพนักงานอื่นสมคบกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารบันทึกการทำงานเพื่อเบียดบังเอาผลประโยชน์ จำเลยจึงตั้งกรรมการขึ้นสอบสวน คณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นว่าเหตุเกิดจากการปล่อยปละละเลยขาดความเอาใจใส่ในการควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ซึ่งเป็นการกระทำผิดวินัย ฐานจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ คำสั่ง ประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย รายงานเท็จและเสนอความเห็นไม่สุจริตต่อผู้บังคับบัญชา ยินยอมให้ผู้อื่นกระทำการหาผลประโยชน์ซึ่งโจทก์เคยถูกลงโทษลดขั้นเงินเดือน และตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว คณะกรรมการเห็นควรลงโทษให้ออก จำเลยจึงมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากพนักงาน จำเลยไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยที่ ๕๗/๒๕๓๑ ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่ง อัตราค่าจ้างและสภาพการจ้างที่ไม่ต่ำกว่าเดิมโดยนับอายุงานต่อ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ว่า ในชั้นพิจารณาโจทก์ยอมรับแล้วว่าในปี ๒๕๒๗ และปี ๒๕๓๐ โจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ขาดความเอาใจใส่ และฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลย จนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง นอกจากนี้ โจทก์ยังได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารซึ่งเป็นความผิดต่ออาญาแผ่นดินฐานปลอมแปลงเอกสารและรายงานเท็จต่อ ผู้บังคับบัญชาเพื่อเบียดบังผลประโยชน์เป็นของตนเองโดยเจตนาทุจริต เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้าง โดยไม่ออกตามข้อบังคับ ฉบับที่ ๔๖ ข้อ ๘ ได้ แต่จำเลยมีคำสั่งลงโทษเลิกจ้างคลาดเคลื่อนจากข้อบังคับโดยลงโทษเพียงให้ออกตามข้อบังคับ ข้อ ๙ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าให้เพิกถอนคำสั่งที่ ๕๗/๒๕๓๑ และให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมเป็นการวินิจฉัยคลาดเคลื่อนในข้อกฎหมายพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๓๑ ของศาลแรงงานกลางว่า โจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ขาดความเอาใจใส่ และฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยมาแล้ว เมื่อปี ๒๕๒๗ โดยโจทก์ถูกลงโทษด้วยการลดขั้นเงินเดือน ๑ ขั้น และถูกตักเตือนเป็นหนังสือมาแล้ว ตามคำสั่งของจำเลยที่ ๕๘/๒๕๒๗ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๕ ส่วนเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยการให้ออกจากกรณีที่โจทก์กระทำผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลยเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๒๙ , ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๙, ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๙, ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๙, ๑๖ ธันวาคม ๒๕๒๙ และ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๒๙ ดังนี้ การถูกลงโทษทางวินัยของโจทก์ที่ได้รับการล้างมลทิน ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา พ.ศ.๒๕๓๐ จึงมีเฉพาะการถูกลงโทษลดขั้นเงินเดือนที่ได้รับโทษไปแล้วตามคำสั่งของจำเลยที่ ๕๘/๒๕๒๗ เท่านั้น ส่วนการถูกตักเตือนเป็นหนังสือตามคำสั่งดังกล่าว หาใช่เป็นการถูกลงโทษอันจะได้รับการล้างมลทินไม่ กรณีจึงต้องถือว่าการที่โจทก์เคยถูกตักเตือนเป็นหนังสือยังมีอยู่ ส่วนการกระทำผิดตามคำสั่งที่ ๕๗/๒๕๓๑ ที่จำเลยอ้างมาเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้างครั้งนี้ โจทก์มิได้ถูกลงโทษทางวินัยและได้รับโทษหรือรับทัณฑ์ทั้งหมดหรือบางส่วนไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติ ดังกล่าวใช้บังคับ โจทก์จึงไม่ได้รับการล้างมลทินในความผิดทางวินัยคราวที่จำเลยอ้างมาเป็นมูลเลิกจ้างโจทก์ ปรากฏตามคำสั่งที่ ๕๗/๒๕๓๑ ตามเอกสารหมาย ล.๙ ว่า โจทก์กระทำผิดวินัยฐานจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับคำสั่งของจำเลย ประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย รายงานเท็จและเสนอความเห็นไม่สุจริตต่อผู้บังคับบัญชา ยินยอมให้ผู้อื่นกระทำการหาผลประโยชน์ กล่าวคือปล่อยปละละเลย ขาดความเอาใจใส่ในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ตรวจตราควบคุมเอกสารการทำงานของพนักงานให้เป็นไปโดยเรียบร้อยถูกต้อง มีการแก้ไขเอกสารการปฏิบัติงาน เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับประโยชน์ไปโดยมิชอบ แต่จากการสอบสวนไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าผู้ใดเป็นผู้แก้ไขเอกสารดังกล่าว จำเลยจึงถือว่าโจทก์กระทำผิดวินัยตามข้อ ๔.๓,๔.๗ และ ๔.๑๑ แห่งข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ ๔๖ ฯ (พ.ศ.๒๕๒๔) โดยให้ลงโทษตามข้อ ๙.๒,๙.๓ และ ๙.๘ ตามข้อบังคับดังกล่าว ซึ่งกรณีเหล่านี้กำหนดอยู่ในข้อบังคับข้อ ๙ ว่า “การลงโทษให้ออกนั้นให้กระทำในกรณีที่พนักงานกระทำผิดวินัย อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่องค์การไม่ถึงร้ายแรงและได้รับการตักเตือนเป็นหนังสือแล้วในความผิดดังต่อไปนี้
ฯลฯ
๙.๒ ประมาทเลินเล่อในหน้าที่อยู่เนือง ๆ
๙.๓ จงใจไม่ปฏิบัติระเบียบข้อบังคับคำสั่งขององคการระเบียบของส่วนราชการหรือมติคณะรัฐมนตรี
ฯลฯ
๙.๘ ประพฤติตนเป็นที่เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่
ฯลฯ”
พึงเห็นได้ว่า การที่จะลงโทษโจทก์ตามข้อบังคับข้อ ๙ โจทก์จะต้องได้รับการตักเตือนเป็นหนังสือในความผิดตามข้อ ๙.๒,๙.๓ และ ๙.๘ มาก่อน และดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วในตอนต้นว่า กรณีของโจทก์การถูกตักเตือนเป็นหนังสือไม่ได้รับการล้างมลทิน จึงต้องถือว่าโจทก์ยังคงเป็นผู้ถูกตักเตือนเป็นหนังสือมาก่อน จำเลยจึงชอบที่จะลงโทษโจทก์ตามคำสั่งที่ ๕๗/๒๕๓๑ ของจำเลยได้
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์