คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4955/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยล็อกคอ ส.ในร้านอาหาร แล้วใช้มีดแทงผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารที่จะเข้าไปช่วย ส.จนได้รับอันตรายแก่กายและต้องถอยห่างออกไปหลังจากนั้นจำเลยใช้มีดจี้ที่คอ ส.พร้อมกับตะโกนต่อหน้าคนในร้านว่าที่ทำไปเพื่อต้องการเงิน 500 บาท แม้จำเลยจะมิได้เจาะจงว่าต้องการเงินจากผู้เสียหายแต่ตามพฤติการณ์เห็นได้ว่าต้องการให้ผู้เสียหายในฐานะเจ้าของร้านยื่นเงินให้ในทันใดนั้น เมื่อจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเสียก่อนที่จะได้เงินจากผู้เสียหายการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลักเงิน 500 บาท ของนายเกษมศักดิ์ ผู้เสียหาย โดยใช้กำลังประทุษร้ายนางสาวสายฝน และใช้มีดแทงผู้เสียหายซึ่งเข้ามาช่วยจนบาดเจ็บ ทั้งใช้มีดจี้ที่ลำคอขู่เข็ญนางสาวสายฝนว่าทันใดนั้นจะแทงให้ตายเพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์ และเพื่อให้ผู้เสียหายเกรงกลัวยอมจัดหารถยนต์ไปส่งจำเลยที่จังหวัดนครราชสีมา จำเลยกระทำผิดไปตลอดแล้วแต่ไม่บรรลุผลเพราะผู้เสียหายไม่ยอมให้เงินและจัดหารถยนต์ให้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 295, 310, 337, 339, 371 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ปรับ 80 บาท มาตรา 295, 310, 337 วรรคสอง, 80 ลงโทษตามมาตรา 337 วรรคสอง, 80 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 2 ปี 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 40 บาท ริบของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 80 จำคุก 8 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 4 ปี ให้ยกฟ้องข้อหาพยายามกรรโชก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ประกอบด้วยการกระทำ 2 อย่าง คือ การทำร้ายร่างกายหรือขู่ว่าจะทำร้าย และการลักทรัพย์ กรณีที่จะเป็นความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์นั้น ความไม่สำเร็จจะต้องอยู่ที่การลักทรัพย์ สำหรับคดีนี้จำเลยได้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายสำเร็จไปแล้วโดยได้ใช้มีดแทงนายเกษมศักดิ์ จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายและทำร้ายนางสาวสายฝนโดยล็อกคอนางสาวสายฝนไว้แล้ว คงมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาว่าจำเลยได้ลงมือลักทรัพย์ของนายเกษมศักดิ์ตามฟ้องแต่ลักไม่สำเร็จหรือไม่ ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความในฟ้องสำนวนนั้น เมื่อจำเลยล็อกคอนางสาวสายฝนไว้และทำร้ายร่างกายนายเกษมศักดิ์แล้ว จำเลยได้ตะโกนต่อหน้าคนในร้านว่าที่ทำไปเพื่อต้องการเงิน 500 บาท และให้จัดรถยนต์ให้ 1 คัน ซึ่งตามพฤติการณ์ดังกล่าวแม้จำเลยจะมิได้เจาะจงว่าจะต้องการเงินจากนายเกษมศักดิ์ แต่ก็พอเห็นได้ว่าต้องการให้นายเกษมศักดิ์ในฐานะเจ้าของร้านอาหารยื่นเงินให้ 500 บาท โดยให้ยื่นเงินให้ในทันใดนั้น เหตุผลอีกข้อหนึ่งที่พอจะนำมาอนุมานถึงเจตนาที่แท้จริงของจำเลยก็คือ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้และแจ้งข้อหาว่ากระทำความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์ จำเลยก็ให้การรับสารภาพ และรับสารภาพตลอดมาแม้ในชั้นศาล ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์ด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 80 โดยไม่ได้ระบุว่าวรรคใดนั้น สมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม, 80 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share