คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4382/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเลิกจ้างอาจเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 และอาจเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ก็ได้ โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยสั่งไล่โจทก์ออกจากงานโดยโจทก์ไม่มีความผิด การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ เป็นการละเมิดและเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จึงเป็นคดีที่มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่า การเลิกจ้างของจำเลยเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 หาใช่เป็นเรื่องตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ไม่ แม้โจทก์จะมิได้ยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มาก่อนก็ตาม โจทก์มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๓๐ โจทก์ได้ฟ้องจำเลยขอให้ชำระค่าล่วงเวลา จำเลยที่ ๒ โกรธจึงสั่งไล่โจทก์ออกจากงานเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๓๐ โดยโจทก์ไม่มีความผิดเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์
เป็นการละเมิด จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าล่วงเวลา ค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีและวันหยุดประจำสัปดาห์พร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่มแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้ไล่โจทก์ออกจากงานหรือเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม โจทก์เป็นฝ่ายประพฤติตนไม่เหมาะสมและผิดสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยตักเตือนโจทก์ แต่โจทก์ไม่เชื่อฟังและโต้เถียงจำเลยอันเป็นการประพฤติตนไม่เหมาะสมต่อนายจ้าง นอกจากนั้นโจทก์ได้ลักลอบใช้โทรศัพท์ทางไกล จำเลยให้โจทก์ชดใช้ค่าโทรศัพท์ดังกล่าวกับได้ย้ายหน้าที่โจทก์จากขับรถไปทำงานอยู่ที่โรงงาน ทำให้โจทก์ไม่พอใจ หลังจากนั้นโจทก์ฟ้องจำเลยเรียกค่าล่วงเวลาแต่ได้ถอนฟ้องไปแล้วกลับนำคดีฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้อีก แล้วโจทก์พูดจาท้าทายให้จำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานเป็นหนังสือ แต่จำเลยไม่สนใจ โจทก์จึงไม่ยอมไปทำงานและทิ้งงานเกินกำหนดเวลา ๓ วัน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชย ทั้งสภาพงานที่จำเลยจ้างโจทก์นั้นเป็นงานซึ่งโดยสภาพแล้วอาจเลิกไม่เป็นเวลา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทำงานในวันหยุด ที่จำเลยให้โจทก์ขับรถในวันหยุดหรือขับรถเกินเวลาที่กำหนดในสัญญา โจทก์ก็ได้รับเงินเป็นพิเศษ และเงินตามสัญญาไปเรียบร้อยแล้ว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า อุทธรณ์ของโจทก์ข้อ ๒.๓ ในประเด็นที่ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยว่าการเลิกจ้างของจำเลยเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น ปัญหาข้อนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องอ้างถึงเหตุเลิกจ้างว่าเนื่องจากโจทก์ฟ้องเรียกค่าล่วงเวลาจากจำเลยตามคดีหมายเลขดำที่ ๔๒๗๑/๒๕๓๐ ของศาลแรงงานกลาง เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๒ โกรธได้ไล่โจทก์ออกจากงาน กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑ มิใช่เป็นเรื่องเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยได้ยื่นคำร้องกล่าวหาต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ก่อนตามมาตรา ๑๒๔ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคท้าย ซึ่งโจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ได้ถอนฟ้องคดีแรกซึ่งยื่นฟ้องเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๓๐ อันจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้หลังจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์ถึง ๓ เดือนเศษ ขาดขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการแล้ว โจทก์ไม่จำต้องกลับไปดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าวอีก จึงมีอำนาจฟ้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคท้าย พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การเลิกจ้างของจำเลยนั้นอาจเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑ และอาจเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ ก็ได้ โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยสั่งไล่โจทก์ออกจากงาน โดยโจทก์ไม่มีความผิด การกระทำของจำเลยที่ ๒ เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ เป็นการละเมิดและเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ในข้อ ๔ ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์หรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่าการเลิกจ้างของจำเลยเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ หาใช่เป็นเรื่องตามมาตรา ๑๒๑ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๘ ไม่ กรณีจึงต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ก่อนโดยในชั้นนี้ยังไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยรวมตลอดทั้งฟ้องแย้งด้วย
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยตามประเด็นที่กำหนดไว้ แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปความ

Share