คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2353/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มีบัญชีทั้งหมด 3 เล่ม คือ บัญชีเงินสด บัญชีแยกประเภทและบัญชีรายรับทั่วไป เมื่อเจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกให้โจทก์นำบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไปเพื่อตรวจสอบ โจทก์คงส่งแต่เพียงบัญชีเงินสด เอกสารใบสำคัญคู่จ่าย สัญญารับเหมาก่อสร้าง สำเนาแบบเสียภาษีการค้าและสำเนาใบเสร็จรับเงิน โดยไม่ยอมส่งบัญชีพร้อมทั้งหลักฐานและเอกสารประกอบการลงบัญชีอย่างอื่นให้เจ้าพนักงานประเมินทำการตรวจสอบไต่สวนซึ่งไม่เพียงพอแก่การตรวจสอบ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายตามมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากรได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเจ้าพนักงานประเมินของจำเลย แจ้งและประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีการค้า เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และภาษีบำรุงเทศบาลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่เดือนมกราคม -ธันวาคม ๒๕๒๒ จากโจทก์ โดยแจ้งให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ ๕ ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ซึ่งเมื่อหักภาษีที่โจทก์ชำระแล้ว โจทก์ต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีก ๔,๘๙๐,๕๗๘.๓๓ บาท โดยอ้างว่าโจทก์มิได้นำบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีให้เจ้าพนักงานประเมินทำการไต่สวน และได้ประเมินเรียกเก็บภาษีการค้าเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และภาษีบำรุงเทศบาลจากรายรับต่าง ๆ ของโจทก์ซึ่งเมื่อหักภาษีที่โจทก์ชำระแล้ว แจ้งให้โจทก์เสียภาษีการค้าเพิ่มเบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาลอีก ๖๖๕,๘๑๓.๒๖ บาท โดยอ้างว่าโจทก์เสียไว้ไม่ถูกต้อง คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วคงให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี ๒๕๒๒ เป็นเงิน ๔,๘๘๖,๖๗๘.๓๒ บาทและให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับภาษีการค้าซึ่งการประเมินและคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเอกสารประกอบการลงบัญชีที่โจทก์ส่งมอบแก่จำเลยเพียงพอที่เจ้าพนักงานประเมินจะตรวจสอบได้ และโจทก์ได้เสียภาษีการค้าไว้ถูกต้องและครบถ้วนแล้ว ขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าว
จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่ไปพบเจ้าพนักงานตามหมายเรียกทั้งจงใจไม่ส่งบัญชีและเอกสารซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการตรวจสอบภาษีของโจทก์เจ้าพนักงานไม่อาจตรวจสอบภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี ๒๕๒๒ ของโจทก์ได้ จึงประเมินภาษีอากรตามมาตรา ๗๑ (๑)แห่งประมวลรัษฎากร และคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ วินิจฉัยให้เรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเงิน ๔,๘๘๖,๖๗๘.๓๒ บาท โจทก์ยื่นรายรับสำหรับภาษีการค้าขาดไป เจ้าพนักงานจึงประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าเบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาลเป็นเงิน๖๖๕,๘๑๓.๒๖ บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามฟ้อง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าได้ความจาก อ. ซึ่งเป็นพนักงานบัญชีของโจทก์ในขณะนั้นว่าบริษัทโจทก์มีบัญชีทั้งหมด ๓ เล่มคือบัญชีเงินสด บัญชีแยกประเภทและบัญชีรายรับทั่วไป แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยหมายเรียกให้โจทก์นำบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีพร้อมทั้งหลักฐานและเอกสารประกอบการลงบัญชีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี ๒๕๒๒ ไปให้ตรวจสอบ อ. ยอมรับว่าโจทก์ไม่สามารถส่งเอกสารให้ตรวจสอบได้ อ้างว่าตู้เอกสารของโจทก์ถูกศาลสั่งยึดไว้ ส่วนบัญชีเงินสดปี ๒๕๒๒ โจทก์ว่าได้จัดทำรวมเล่มไว้กับบัญชีปี ๒๕๒๑ แล้ว ต่อมามีการเตือนให้นำเอกสารตามที่จำเลยต้องการไปส่งอีก อ. ก็คงนำแต่เอกสารใบสำคัญคู่จ่าย สัญญาก่อสร้างที่โจทก์รับเหมาทำสัญญารับเหมาช่วง สำเนาแบบเสียภาษีการค้าปี ๒๕๒๒ และสำเนาใบเสร็จรับเงินไปมอบแก่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีของจำเลย แต่ไม่มีเอกสารตามที่จำเลยต้องการมีการขอเลื่อนการส่งเอกสารหลายครั้งหลายคราวจนจำเลยมีหนังสือแจ้งการประเมินไปยังโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้แน่ชัดว่าโจทก์ไม่ได้นำบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีพร้อมทั้งหลักฐานและเอกสารประกอบการลงบัญชีตามที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยต้องการตรวจสอบ แม้โจทก์จะได้นำบัญชีเงินสดของปี ๒๕๒๒ มอบให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยไว้แล้วก็หาเพียงพอแก่การตรวจสอบไม่ เพราะบัญชีที่โจทก์จัดทำนอกจากบัญชีเงินสด ตลอดจนเอกสารประกอบการลงบัญชีของโจทก์ โจทก์ก็ไม่ได้จัดการส่งให้แก่จำเลยให้เพียงพอแก่การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ดังจำเลยฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์อ้างว่าโจทก์ส่งเพียงบัญชีเงินสดให้จำเลยตรวจสอบย่อมเพียงพอแล้วจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และเห็นว่าการที่โจทก์ไม่นำเอกสารหรือหลักฐานอื่นมาให้เจ้าพนักงานของจำเลยทำการตรวจสอบไต่สวนเช่นนี้เจ้าพนักงานของจำเลยย่อมมีอำนาจประเมินภาษีเงินได้บุคคลของโจทก์ในอัตราร้อยละ ๕ ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายตามมาตรา ๗๑ (๑) แห่งประมวลรัษฎากรได้ การแจ้งการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์.

Share