คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1900/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องอ้างว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์นำยึดเดิมเป็นสินสมรสของจำเลยกับผู้ร้อง ต่อมาจำเลยกับผู้ร้องตกลงหย่าขาดจากกันและทำบันทึกยกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ร้อง แต่ยังมิได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็นของผู้ร้อง เช่นนี้หากฟังได้ดังที่ผู้ร้องอ้าง กรณีก็มิใช่เป็นการยกให้โดยเสน่หา แต่เป็นการแบ่งทรัพย์สินกันระหว่างสามีภริยาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 แม้ยังมิได้จดทะเบียนการได้มาก็ต้องฟังพยานทั้งสองฝ่ายให้สิ้นกระแสความ การที่ศาลงดสืบพยานผู้ร้องและพิพากษาให้ผู้ร้องเป็นฝ่ายแพ้คดีนั้นย่อมเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้ยืม ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์โดยผ่อนชำระมีกำหนด ๑๘ เดือน ผิดนัดงวดใดให้บังคับคดีได้ทั้งหมด จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ดังกล่าว โจทก์ขอให้บังคับคดีและนำยึดที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๔๔๑๓ พร้อมบ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์นำยึดอ้างว่าเป็นของจำเลยนั้น เป็นของผู้ร้องโดยจำเลยและผู้ร้องเป็นสามีภริยากัน ระหว่างสมรสได้ร่วมกันซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจึงเป็นสินสมรส ต่อมาจำเลยและผู้ร้องตกลงหย่าขาดจากกันและทำบันทึกยกที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแต่เพียงผู้เดียว แต่จำเลยและผู้ร้องได้นำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไปจำนองเป็นประกันหนี้ธนาคารอาคารสงเคราะห์และชำระหนี้ยังไม่ครบจึงไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดแต่ผู้เดียวได้ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
โจทก์ให้การว่า ผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้อง ให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๓,๐๐๐ บาท ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีต่อไป
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏว่าพยานผู้ร้องคือตัวผู้ร้องเองเบิกความว่า เดิมจำเลยกับผู้ร้องเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายระหว่างสมรสได้ร่วมกันซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๔๔๑๓ ที่พิพาทพร้อมบ้าน ๑ หลังบนที่ดินนี้มาจากบริษัทกรุงเทพเคหะพัฒนา จำกัด แต่ใส่ชื่อจำเลยไว้เพียงผู้เดียวเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้จึงเป็นสินสมรส ต่อมาวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๒๔ ผู้ร้องกับจำเลยตกลงหย่าขาดจากกัน ในการจดทะเบียนหย่า ผู้ร้องกับจำเลยตกลงแบ่งสินสมรสกัน โดยจำเลยยอมยกที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง ส่วนจำเลยได้เงินสดและเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับสัญญาการกู้เงินไป แต่ไม่สามารถไปจดทะเบียนโอนใส่ชื่อผู้ร้องในโฉนดได้ เพราะได้นำโฉนดไปจำนองไว้กับธนาคารอาคารสงเคราะห์ ที่ดินและบ้านที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดมาไว้ในคดีนี้เป็นของผู้ร้อง ไม่ใช่ของจำเลย
พิเคราะห์แล้ว ผู้ร้องฎีกาว่า การที่จำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะถือได้หรือไม่ว่าที่ดินยังเป็นของจำเลยอยู่ เพราะข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่าผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ตามโฉนดที่ดินถือว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้น เป็นเพียงข้อสันนิษฐานไม่เด็ดขาด อาจนำสืบหักล้างได้ จึงควรให้ผู้ร้องนำสืบว่ามีการจดทะเบียนหย่ากันจริงและแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวกันจริงโดยสุจริต การที่ศาลชั้นต้นด่วนมีคำสั่งงดสืบพยานของทั้งสองฝ่ายย่อมเป็นการไม่ชอบ จึงขอฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่เห็นพ้องกับคำสั่งศาลชั้นต้น นั้น เห็นว่า หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกับผู้ร้องหย่ากันและแบ่งทรัพย์สินกันจริงโดยสุจริตดังผู้ร้องอ้าง กรณีก็มิใช่เป็นการยกให้โดยเสน่หา แต่เป็นการแบ่งทรัพย์สินกันระหว่างสามีภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๓๒ และแม้จะยังมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินแปลงนี้ก็ตาม ก็สมควรฟังพยานทั้งสองฝ่ายให้สิ้นกระแสความเสียก่อน ที่ศาลล่างทั้งสองงดสืบพยานและพิพากษาให้ผู้ร้องเป็นฝ่ายแพ้คดีนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่.

Share