คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1313/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาว่าเป็นโมฆะแล้วนั้น มีผลเท่ากับสัญญาไม่มีผลมาตั้งแต่ต้น ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองจะร่วมกันเติมข้อความลงในช่องว่างที่เว้นไว้ในสัญญาผิดไปจากข้อตกลงและเบิกความยืนยันข้อความนั้นต่อศาลก็ไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแต่ประการใด โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยฐานปลอมเอกสารและเบิกความเท็จ
การที่จำเลยเบิกความเท็จต่อศาลว่า เจ้ามรดกกู้เงินผู้อื่นและจำเลยเป็นผู้ชำระเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยแทนเจ้ามรดกนั้น หาใช่เป็นข้อสาระสำคัญในการฟ้องขอแบ่งมรดกแต่ประการใดไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันปลอมแปลงเอกสารสิทธิโดยจำเลยที่ ๑ ใช้หรือจ้างวานจำเลยที่ ๒ ทำการเพิ่มเติมข้อความในหนังสือประนีประนอมยอมความแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์กับพวกและจำเลยที่ ๑ เพื่อให้จำเลยที่ ๑ ได้รับทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจากข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวโดยโจทก์กับพวกมิได้ยินยอมให้มีการแก้ไขดังกล่าว และต่อมาจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเบิกความเท็จต่อศาลในการพิจารณาคดีแพ่งและนำสืบอ้างเอกสารปลอมต่อศาล โดยจำเลยที่ ๑ ได้เบิกความเท็จต่อศาลหลายตอนมีข้อสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า “ได้ชำระหนี้ให้กับนายชำนาญไปแล้วรวมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ ๓ ต่อเดือน รวม ๑๖๐,๐๐๐ บาท” ซึ่งคำเบิกความดังกล่าวของจำเลยที่ ๑ เป็นความเท็จทั้งสิ้น กล่าวคือนายชั้วเจ้ามรดกไม่เคยกู้ยืมเงินจากนายชำนาญ และจำเลยที่๑ ไม่เคยชำระหนี้ให้กับนายชำนาญแทนนายชั้ว และจำเลยที่ ๒เบิกความต่อศาลมีสาระสำคัญว่า จำเลยที่ ๒ ไม่เคยตกเติมอะไรในสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งเป็นความเท็จเพราะจำเลยที่ ๒ ได้เพิ่มเติมข้อความลงในสัญญาภายหลัง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๘๔, ๙๑, ๑๗๗, ๑๘๐, ๒๖๔, ๒๖๕ และ ๒๖๘
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งให้ประทับฟ้องโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้องพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์เป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้อง
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ได้ความว่าโจทก์เป็นบุตรคนหนึ่งของนายชั้วและนางชลอน นุชท่าโก หลังจากนางชลอมถึงแก่กรรมแล้ว นายชั้วได้แต่งงานกับจำเลยที่ ๑ เมื่อพ.ศ. ๒๕๑๓ และมีบุตรด้วยกัน ๑ คน คือ เด็กหญิงชีวารัตน์หรือชีวรัตน์ ต่อมาวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๒๓ นายชั้วถึงแก่กรรม วันที่๑๔ สิงหาคม ๒๕๒๓ โจทก์ นางบุษกร นุชท่าโก นายบัณฑิต นุชท่าโกนายสัมพันธ์ นุชท่าโก และนายสมชาย นุชท่าโก กับจำเลยที่ ๑และบุตรได้ทำหนังสือสัญญาประนีประนอมแบ่งมรดกของนายชั้ว วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๒๔ โจทก์ นางบุษกรและนายบัณฑิตเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ขอแบ่งมรดกของนายชั้วจำเลยที่ ๑ ยกสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.๖ ในสำนวนคดีแพ่งแดงที่ ๕๕/๒๕๒๕ ต่อมาวันที่ ๑๖กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ นางกำไรจึงเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ เป็นคดีเรื่องนี้กล่าวหาว่าร่วมกันปลอมโดยเพิ่มเติมข้อความในหนังสือสัญญาประนีประนอม และเบิกความเท็จเกี่ยวกับหนังสือสัญญาประนีประนอมดังกล่าวซึ่งผลที่สุดศาลฎีกาพิพากษาว่า หนังสือสัญญาประนีประนอมตามเอกสารหมาย ล.๖ ในคดีแพ่งแดงที่ ๕๕/๒๕๒๕ เป็นโมฆะ
จากที่ได้ความดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อสัญญาประนีประนอมตามเอกสารหมาย ล.๖ เป็นโมฆะตามคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งมีผลเท่ากับว่าหนังสือสัญญาประนีประนอมไม่มีผลมาตั้งแต่ต้น ดังนั้นถึงแม้หากจำเลยทั้งสองจะได้ร่วมกันเพิ่มเติมเลขที่น.ส๓ และ น.ส.๓ก. ลงในช่องว่างที่เว้นไว้ผิดไปจากข้อตกลงและเบิกความยืนยันข้อความในหนังสือสัญญาประนีประนอมนั้นก็จะไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแต่ประการใด ส่วนในข้อที่ฟ้องว่า จำเลยเบิกความเท็จว่า นายชั้วกู้เงินนายชำนาญ๑๐๐,๐๐๐ บาท และจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ชำระเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน ๑๖๐,๐๐๐ บาท นั้นก็หาใช่เป็นข้อสาระสำคัญในการฟ้องขอแบ่งมรดกแต่ประการใดไม่ ดังนั้นโจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลอุทรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share