คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1071/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างโดยให้มีผลตั้งแต่วันยื่นคำร้องคือวันที่ 20มกราคม 2530 ก่อนโจทก์ยื่นคำคัดค้านจำเลยยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาเป็นกรณีฉุกเฉิน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตโดยให้จำเลยนำเงินค่าจ้างไปวางศาลเมื่อคดีถึงที่สุดโดยศาลแรงงานกลางอนุญาตให้เลิกจ้างโจทก์ได้ก็ให้จำเลยขอรับเงินค่าจ้างคืนไป แต่ถ้าไม่อนุญาตให้เลิกจ้างก็ให้โจทก์รับเงินค่าจ้างไปได้ แสดงว่าจำเลยประสงค์เลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2530 การที่ต่อมาโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยยอมจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่โจทก์จำนวนหนึ่งโดยให้โจทก์ไปขอรับจากศาลแรงงานกลางตามที่จำเลยได้วางไว้ ส่วนที่เหลือให้จำเลยรับคืนไป และโจทก์ไม่ติดใจในเรื่องเลิกจ้างไม่เป็นธรรมค่าเสียหายและค่าชดเชยเกี่ยวกับการเลิกจ้าง ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ตามที่ตกลงกันแต่ข้อตกลงไม่แจ้งชัดว่าจะให้เลิกจ้างเมื่อใด เช่นนี้คำสั่งอนุญาตให้เลิกจ้างดังกล่าวย่อมเป็นไปตามคำขอของจำเลยโดยจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2530

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๓๐ จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างต่อศาลแรงงานกลางโจทก์คัดค้านคำร้องขอเลิกจ้าง ต่อมาวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๓๐โจทก์จำเลยตกลงประนีประนอมยอมความกันได้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ย้อนหลังไปวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๓๐ ซึ่งไม่เป็นธรรมแก่โจทก์เพราะศาลยังไม่มีคำสั่งอนุญาตให้เลิกจ้าง ระหว่างวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๓๐ ถึงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๓๐ โจทก์ยังเป็นลูกจ้างจำเลยมีสิทธิได้รับค่าจ้างรวมทั้งค่าชดเชยเพราะข้อตกลงประนีประนอมยอมความในส่วนค่าชดเชยที่ว่าโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องนั้นขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่มีผลบังคับทั้งจำเลยไม่ยอมจ่ายเงินโบนัสให้ ขอให้บังคับจำเลยกำหนดวันเลิกจ้างเป็นวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๓๐ จ่ายค่าจ้างที่ค้างระหว่างวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๓๐ ถึงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๓๐ และค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยขออนุญาตเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ทำผิดระเบียบข้อบังคับและคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยอย่างร้ายแรง จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายและกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาต่อจำเลย โจทก์จำเลยตกลงประนีประนอมยอมความกันได้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้เลิกจ้างตามที่จำเลยขอ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๒๐มกราคม ๒๕๓๐ ตามผลของสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงเป็นการเลิกจ้างโดยชอบและจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างระหว่างวันที่ ๑๖ – ๑๙มกราคม ๒๕๓๐ กับค่าชดเชย เพราะโจทก์ตกลงสละสิทธิไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้ว ซึ่งไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน มีผลบังคับได้ ส่วนเงินโบนัสก็ยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ต้องจ่ายให้โจทก์
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ตามคำสั่งของศาลแรงงานกลางที่อนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่ได้ระบุให้เลิกจ้างเมื่อใดจำเลยไม่อาจเลิกจ้างก่อนมีคำสั่งอนุญาต จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างได้ตั้งแต่วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๓๐ ซึ่งเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เลิกจ้าง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งหกในระหว่างวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๓๐ ถึงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๓๐
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาสู่ศาลฎีกาเพียงประเด็นเดียวว่า โจทก์ทั้งหกมีสิทธิได้รับค่าจ้างตั้งแต่วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๓๐ ถึงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๓๐ จากจำเลยหรือไม่จำเลยอุทธรณ์ว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๘๖/๒๕๓๐ หมายเลขแดงที่ ๒๔๙๕/๒๕๓๐ ของศาลแรงงานกลางโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เห็นได้ชัดว่าโจทก์จำเลยยอมสละข้อหาข้อต่อสู้ทั้งหมด ไม่ติดใจเรียกร้องกันอีกต่อไปซึ่งเป็นการยอมให้เลิกจ้างได้โดยไม่ติดใจเรียกร้องเกี่ยวกับการเลิกจ้างอีก การยอมให้จำเลยเลิกจ้างได้นั้น แม้มิได้ระบุว่าให้เลิกจ้างเมื่อใดแต่ก็เป็นการอนุญาตตามคำขอคือจำเลยขอให้เลิกจ้างตั้งแต่วันยื่นคำร้องคือวันที่ ๒๐มกราคม ๒๕๓๐ จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างได้นับแต่วันยื่นคำร้องพิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามคำร้องของจำเลยที่ขออนุญาตเลิกจ้างโจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ ๒๔๙๕/๒๕๓๐ ของศาลแรงงานกลางนั้น จำเลยได้มีคำขอเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๒๐ มกราคม๒๕๓๐ ซึ่งเป็นวันที่จำเลยยื่นคำร้องเป็นต้นไป ต่อมาในวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๓๐ ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนโจทก์ยื่นคำคัดค้านจำเลยได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาเป็นกรณีฉุกเฉิน โดยขอให้มีคำสั่งห้ามโจทก์เข้าไปในบริเวณโรงงานของจำเลย และระหว่างการพิจารณาจำเลยยังต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ หากศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์นับแต่วันที่ยื่นคำร้องจำเลยก็ต้องไปเรียกร้องเอาค่าจ้างคืนจากโจทก์ซึ่งเป็นการยากที่จะเรียกคืนได้ จำเลยจึงขอวางเงินค่าจ้างดังกล่าวต่อศาล เมื่อคดีถึงที่สุดหากศาลแรงงานกลางอนุญาตให้เลิกจ้างได้จำเลยก็จะขอรับเงินที่วางนั้นคืนเมื่อศาลแรงงานกลางไต่สวนพยานหลักฐานของจำเลยแล้วได้มีคำสั่งอนุญาตตามขอโดยมีรายละเอียดเฉพาะเรื่องค่าจ้างของโจทก์ว่า อนุญาตให้จำเลยนำเงินค่าจ้างของโจทก์มาวางศาลได้เมื่อคดีถึงที่สุดโดยศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้เลิกจ้างได้ก็ให้จำเลยมารับคืนไป แต่ถ้าไม่อนุญาตให้เลิกจ้างก็ให้โจทก์มารับไปได้ พฤติการณ์ตามที่ได้ความนี้จึงมีความหมายว่าจำเลยประสงค์เลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่๒๐ มกราคม ๒๕๓๐ ซึ่งเป็นวันยื่นคำร้องขอเลิกจ้าง และจำเลยได้มีคำสั่งพักงานโจทก์ไว้แล้ว อีกทั้งคำสั่งของศาลแรงงานกลางที่อนุญาตให้มีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาก็เข้าใจคำขอของจำเลยดีอยู่แล้ว การที่ต่อมาโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยยินยอมจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่โจทก์แต่ละคนเป็นเงินจำนวนหนึ่งโดยให้โจทก์ไปขอรับจากศาลแรงงานกลางตามที่จำเลยได้วางไว้ตามคำสั่งดังกล่าว ส่วนที่เหลือให้จำเลยรับคืนไปและโจทก์ไม่ติดใจในเรื่องเลิกจ้างว่าไม่เป็นธรรม ไม่ติดใจเรียกค่าเสียหายค่าชดเชยเกี่ยวกับการเลิกจ้างนี้แล้วศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ตามที่ตกลงกันโดยไม่มีข้อตกลงให้เป็นที่แจ้งชัดว่าจะให้จำเลยเลิกจ้างกันได้เมื่อใด เช่นนี้ คำสั่งอนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงย่อมเป็นไปตามคำขอของจำเลยคือจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ตั้งแต่วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๓๐ ซึ่งเป็นวันที่จำเลยยื่นคำร้องขอเลิกจ้างโจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ภายในวันที่ศาลมีคำสั่งหรือหลังจากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เลิกจ้างได้นั้น ไม่อาจเป็นหลักวินิจฉัยในกรณีที่จำเลยมีคำขอไว้โดยเฉพาะได้โจทก์คงมีสิทธิได้รับค่าจ้างเพียงคนละ ๔ วัน ตั้งแต่วันที่ ๑๖ ถึง ๑๙ มกราคม ๒๕๓๐
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ที่ ๑จำนวน ๔๐๔.๘๐ บาท โจทก์ที่ ๒ จำนวน ๓๖๓.๘๘ บาท โจทก์ที่ ๓ จำนวน๔๔๐ บาท โจทก์ที่ ๔ จำนวน ๕๒๔.๘๐ บาท โจทก์ที่ ๕ จำนวน ๓๕๖.๑๓บาทและโจทก์ที่ ๖ จำนวน ๓๓๙.๐๘ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share