คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 71/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยสั่งพักงานโจทก์ระหว่างสอบสวน เมื่อสอบสวนเสร็จแล้วได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง จำเลยพิจารณาแล้วเห็นว่ายังไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าโจทก์ทำผิด จึงมีคำสั่งให้รับโจทก์กลับเข้าทำงาน ดังนี้ การที่โจทก์ไม่มีผลงานให้แก่จำเลยในชั่วระยะเวลานั้นมิใช่เป็นความผิดของโจทก์ การยกเลิกคำสั่งเลิกจ้างย่อมต้องถือเสมือนว่าคำสั่งเลิกจ้างไม่เคยมีมาก่อนความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลยที่สะดุดหยุดลงจึงต้องคืนเข้าสู่ภาวะเดิมโดยไม่ถือว่าขาดช่วงจำเลยตัดระยะเวลาการทำงานของโจทก์ในช่วงที่ถูกเลิกจ้างออกไม่ชอบด้วยความเป็นธรรมและหามีกฎหมายหรือข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยสนับสนุนหรือให้อำนาจไม่ ประกาศเรื่องเงินโบนัสของจำเลยมีว่า พนักงานที่ถูกพักงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน… ฯลฯ ให้ได้รับเงินรางวัลประจำปีตามส่วนเฉลี่ยแห่งระยะเวลาการทำงานในปีงบประมาณ เดิมโจทก์ไม่ได้รับเงินเดือนในระหว่างถูกสั่งพักงาน ต่อมาจำเลยได้ยอมรับโจทก์กลับเข้าทำงานโดยจ่ายเงินเดือนให้ร้อยละสิบห้า เมื่อศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีมลทินมัวหมอง โจทก์มีสิทธิได้รับเงินเดือนเต็มจำนวนในช่วงถูกพักงาน ดังนี้ กรณีของโจทก์จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามประกาศดังกล่าว จะให้โจทก์ได้รับเงินโบนัสแต่เพียงตามส่วนเฉลี่ยแห่งระยะเวลาการทำงานไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสั่งพักงานและเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดต่อมาจำเลยให้โจทก์กลับเข้าทำงาน แต่ไม่จ่ายเงินและประโยชน์ต่าง ๆให้เหมือนเดิม รวมทั้งสิทธิของโจทก์ในระหว่างพักงาน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินเดือน เงินโบนัส ให้โจทก์มีสิทธิต่าง ๆ เหมือนเดิมศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีมลทินมัวหมอง จำเลยต้องจ่ายเงินเดือนย้อนหลังนับแต่วันสั่งพักงานถึงวันรับกลับเข้าทำงานโจทก์มีสิทธิได้รับเงินโบนัสเต็มตามสิทธิของจำเลย และต้องนับเวลาการทำงานติดต่อกัน พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยในเรื่องให้โจทก์ได้รับเงินเดือนเพียงร้อยละสิบห้าของเงินเดือนสุดท้ายก่อนถูกเลิกจ้างให้จำเลยจ่ายเงินเดือนและเงินโบนัสในระหว่างพักงานพร้อมดอกเบี้ย และนับเวลาพักงานติดต่อกัน คำขอนอกจากนี้ให้ยกจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยต้องสะดุดหยุดลงชั่วระยะเวลาหนึ่ง และการที่โจทก์ไม่มีผลงานให้แก่จำเลยในชั่วระยะเวลานั้นมิใช่เป็นความผิดของฝ่ายโจทก์หากแต่เป็นการตัดสินใจที่รวดเร็วเกินไปของฝ่ายจำเลยเอง บัดนี้ความปรากฏชัดแล้วว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด จนจำเลยต้องยกเลิกคำสั่งเลิกจ้าง ดังที่จำเลยยอมรับในอุทธรณ์แล้วผลแห่งการยกเลิกคำสั่งเลิกจ้างย่อมต้องถือเสมือนว่าคำสั่งเลิกจ้างไม่เคยมีมาแต่ก่อน ความสัมพันธ์ที่สะดุดหยุดลงจึงต้องคืนเข้าสู่ภาวะเดิมโดยบริบูรณ์ไม่ถือว่าขาดช่วง คำสั่งเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 2ที่ให้ตัดระยะเวลาการทำงานช่วงที่ถูกเลิกจ้างออกเสียนั้นหาชอบด้วยความเป็นธรรมและหามีบทกฎหมายหรือข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยใด ๆ สนับสนุนหรือให้อำนาจแก่จำเลยกระทำการเช่นว่านั้นไม่ ดังจะเห็นว่า จำเลยมิได้อ้างเหตุผลใด ๆ ไว้ในคำสั่งเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 2 เลย คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางในข้อนี้ชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยอุทธรณ์ตามข้อ 2.4 วรรคสามว่า ตามประกาศบริษัทการบินไทยจำกัด ที่ 20/2524 เอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 20 ระบุไว้แจ้งชัดว่าเงินโบนัสเป็นเงินที่คณะกรรมการบริษัทจำเลยอนุมัติจ่ายให้แก่พนักงานเพื่อตอบแทนผลงานประจำปี ฉะนั้น ตามระเบียบดังกล่าวย่อมหมายความว่า ในปีงบประมาณลูกจ้างจะต้องทำงานและมีผลงานจริงจึงจะเข้าหลักเกณฑ์ได้รับเงินโบนัส พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าข้ออุทธรณ์เช่นว่านี้เป็นบทนิยามของคำว่า “เงินรางวัลประจำปี”หรือ เป็นที่เข้าใจกันระหว่างโจทก์จำเลยว่า “เงินโบนัส” หมายความว่ากระไรเท่านั้น ซึ่งจะนำบทนิยามมาแปลว่าพนักงานผู้ใดจะได้รับเงินโบนัสหรือไม่ ได้มากหรือได้น้อยหาได้ไม่ อีกประการตามคำให้การข้อ 6 เรื่องเงินโบนัส จำเลยมิได้ต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับโบนัสจำเลยต่อสู้เพียงว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสเต็มจำนวนตามคำฟ้อง หากแต่จะได้รับตามประกาศฯ เอกสารหมายเลข 6 ท้ายคำให้การข้อ 7 (ตรงกับเอกสารหมายเลข ล.2 แผ่นที่ 20) ประเด็นตามคำให้การจึงอยู่ที่การแปลประกาศฯ เอกสารหมาย ล.2 ข้อ 7 เท่านั้น อุทธรณ์ของจำเลยตามที่กล่าวข้างต้นจึงเป็นอุทธรณ์นอกประเด็น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย สำหรับประกาศเอกสารหมาย ล.2 ข้อ 7 กำหนดว่า”พนักงานที่ถูกพักงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน หรือลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือนตั้งแต่ 30 วันขึ้นไป และพนักงานที่ป่วยเกิน 120 วันเว้นแต่การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันเนื่องจากการปฏิบัติงานให้บริษัทให้ได้รับเงินรางวัลประจำปีตามส่วนเฉลี่ยแห่งระยะเวลาการทำงานในปีงบประมาณนั้น พิเคราะห์แล้ว จริงอยู่ ชั้นเดิมโจทก์ไม่ได้รับเงินเดือนในระหว่างถูกสั่งพักงาน (ซึ่งต่อมาช่วงของการพักงานได้กลายเป็นช่วงของการถูกเลิกจ้าง) แต่ในที่สุด จำเลยก็ยอมรับโจทก์กลับเข้าทำงานโดยจ่ายเงินเดือนให้ร้อยละสิบห้าและศาลแรงงานกลางก็ได้วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีมลทินมัวหมอง โจทก์มีสิทธิได้รับเงินเดือนเต็มจำนวนในช่วงถูกพักงาน เมื่อเช่นนี้กรณีของโจทก์จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามประกาศฯ เอกสารหมาย ล.2ข้อ 7 อันจะได้รับเงินโบนัสแต่เพียงตามส่วนเฉลี่ยแห่งระยะเวลาการทำงานตามที่จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเรื่องเงินโบนัสชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share