คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 263/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกต้องการไล่ผีปอบออกจากร่างของผู้ตายได้ใช้ไม้ไผ่ผ่าซีกตีผู้ตายล้มลง แล้วใช้ด้ามมีดตีศีรษะผู้ตาย ด้ามมีดทำด้วยเหล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ยาว 8.5 นิ้ว จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าถ้าตีศีรษะผู้ตายโดยแรงและตีนาน ๆ ย่อมทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายได้ จำเลยตีผู้ตายนานถึง 2 ชั่วโมง ผู้ตายมีรอยฟกช้ำที่หน้าผาก โหนกแก้ม ศีรษะบวมช้ำแบบศีรษะน่วม ความตายของผู้ตายจึงเป็นผลโดยตรงจากการทำร้ายของจำเลยกับพวก จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และเมื่อการกระทำดังกล่าวเป็นการไล่ผีปอบตามความเชื่อและตามประเพณีท้องถิ่นที่ปฏิบัติกันมา แม้การทำร้ายใช้เวลานานถึง 2 ชั่วโมงจนผู้ตายถึงแก่ความตาย ก็เป็นเรื่องของการไล่ผีปอบ ไม่ได้เป็นการกระทำที่แสดงถึงความโหดร้ายทารุณเป็นพิเศษจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยกระทำทารุณโหดร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (5) กรณีนี้เป็นเหตุในลักษณะคดีศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งถอนฎีกาไปแล้วด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าได้ใช้ด้ามมีดและไม้ไผ่เป็นอาวุธทุบตีทำร้ายร่างกายนางสวนโดยมีเจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และกระทำทารุณโหดร้ายจนเป็นเหตุให้นางสวนถึงแก่ควมตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๒๘๙ และริบด้ามมีดกับไม้ของกลาง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ ๑ วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๔
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๒๘๙ (๕) จำเลยที่ ๕ มีความผิดตามมาตรา ๒๘๘, ๒๘๙ (๕), ๘๖, ๕๒ (๑) ให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ สำหรับจำเลยที่ ๕ ให้จำคุกตลอดชีวิต ลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ไว้ตลอดชีวิต จำเลยที่ ๕ จำคุก ๓๓ ปี ๔ เดือน ริบของกลาง
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ ฎีกาขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ ๔ ฎีกา ขอให้ลงโทษฐานฆ่าคนโดยไม่เจตนา ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ ๒ ขอถอนฎีกา ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยเชื่อว่า จำเลยที่ ๓ ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ทำร้ายผู้ตายจริง สำหรับจำเลยที่ ๕ พยานโจทก์ยังมีเหตุน่าระแวงสงสัยไม่พอฟังว่าจำเลยที่ ๕ เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดครั้งนี้ จำเลยที่ ๕ ไม่มีความผิด ปัญหามีว่าการกระทำของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกับพวกทำร้ายผู้ตายก็โดยเข้าใจว่าผู้ตายถูกผีปอบเข้า และต้องการจะไล่ผีปอบออกไปจากร่างของผู้ตายเท่านั้น ได้ความว่าเมื่อใช้ไม่ไผ่ซีกตีผู้ตายล้มลงแล้วจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ กับพวกได้ช่วยกันจับแขนและนั่งทับขา แล้วใช้ด้ามมีดตีศีรษะผู้ตายต่อไปอีก ปรากฏว่าด้ามมีดดังกล่าวทำด้วยเหล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ นิ้ว ยาว ๘.๕ นิ้ว วัดโดยรอบได้ ๓.๕ นิ้วซึ่งมีน้ำหนักมากพอสมควร จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ กับพวกย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าถ้าตีศีรษะผู้ตายโดยแรงและตีนาน ๆ ย่อมทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายได้ จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ กับพวกตีผู้ตายเป็นเวลานานถึง ๒ ชั่วโมง ผู้ตายเงียบเสียงและถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ กับพวกจึงหยุดตีตามรายงานการชั้นสูตรพลิกศพท้ายฟ้อง ผู้ตายถูกตีมีรอยฟกช้ำที่บริเวณหน้าผากและโหนกแก้มด้านซ้าย ศีรษะโดยทั่วไปบวมช้ำ นายแพทย์วีระศักดิ์เบิกความว่า บาดแผลที่ศีรษะผู้ตายมีลักษณะนุ่มลักษณะเช่นนี้เหมือนอย่างที่ชาวบ้านเรียกกันว่าตีจนศีรษะน่วมมันสมองด้านซ้ายถูกทำลายไปทั้งแถบเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ความตายของผู้ตายจึงเป็นผลโดยตรงจากการทำร้ายของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ กับพวก และจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ กับพวกย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้ จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จึงต้องมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ส่วนปัญหาว่าการกระทำของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ กับพวกเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยกระทำทารุณโหดร้ายหรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ ๓ และที่ ๔ กับพวกทำร้ายผู้ตายเพื่อไล่ผีปอบตามความเชื่อถือและตามประเพณีของท้องถิ่นที่ปฏิบัติกันมา แม้จะใช้เวลานานถึง ๒ ชั่วโมงและทำร้ายจนผู้ตายถึงแก่ความตาย ก็เป็นเรื่องของการไล่ผีปอบ ไม่ได้เป็นการกระทำที่แสดงถึงความโหดร้ายทารุณเป็นพิเศษ อันจะถือว่าเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยกระทำทารุณโหดร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๕) แต่อย่างใด จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ กับพวกจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ เท่านั้นและกรณีนี้เป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ ๒ ซึ่งถอนฎีกาไปแล้วได้ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘, ๘๓ วางโทษจำคุกคนละ ๒๐ ปี จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ หนึ่งในสามคงจำคุกคนละ ๑๓ ปี ๔ เดือน ข้อหาอื่นให้ยก และให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๕ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ๆ

Share