แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยโอนสิทธิการเช่าตึกพิพาทให้ ก. และได้ส่งมอบตึกพิพาทให้ ก. แล้ว ก. ว่าจ้างโจทก์ซ่อมแซมตึกพิพาทและอนุญาตให้โจทก์กับครอบครัวเข้าอยู่อาศัยในตึกดังกล่าว แม้ต่อมา ก. ไม่ชำระค่าโอนสิทธิการเช่าส่วนที่ค้าง ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องไปว่ากล่าวกับ ก. ในทางแพ่ง การที่จำเลยใช้กุญแจใส่ประตูตึกพิพาทเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถเข้าไปใช้ตึกพิพาทได้อีก จึงเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (3) แต่ยังถือไม่ได้ว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังโจทก์ หรือกระทำด้วยประการใดให้โจทก์ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย จึงไม่มีความผิดตามมาตรา 310 วรรคแรก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทจากเทศบาลตำบลหัวหินแล้วทำสัญญาโอนสิทธิการเช่าแก่นายกำธร สุวรรณมานะศิลป์ เป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท นายกำธรวางเงินมัดจำ ๒๐,๐๐๐ บาท และได้รับส่งมอบตึกพิพาทจากจำเลยแล้ว จึงว่าจ้างโจทก์ที่ ๑ ซ่อมแซม นายกำธรให้โจทก์ทั้งสองพร้อมด้วยครอบครัวเข้าอยู่อาศัยในระหว่างการซ่อมแซมได้ จำเลยก็ทราบดี ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๒๗จำเลยเข้าไปใส่กุญแจตึกพิพาท เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองไม่สามารถเข้าไปดูแลทรัพย์สินและครอบครองตึกพิพาทตลอดมาโดยปกติสุข ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๙, ๓๑๐, ๓๖๒, ๓๖๕, ๙๑
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๑๐, ๓๖๕ เป็นการกระทำกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา ๓๖๕ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุก ๓ เดือน ปรับ ๒,๐๐๐ บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ไม่ชำระค่าปรับบังคับตามมาตรา ๒๙, ๓๐ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๐, ๓๖๕ ให้ยกฟ้องด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทจากเทศบาลตำบลหัวหินมีกำหนด ๒๕ ปี เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๒๖นายกำธร สุวรรณมานะศิลป์ ทำสัญญารับโอนสิทธิการเช่าจากจำเลยในราคา ๓๐๐,๐๐๐ บาท วางมัดจำในวันทำสัญญา ๒๐,๐๐๐ บาทที่เหลือจะชำระให้เสร็จภายใน ๑ เดือนครึ่ง ครบกำหนดแล้วนายกำธรไม่ชำระเงินที่เหลือและหลังจากทำสัญญาดังกล่าวแล้วนายกำธรว่าจ้างโจทก์ที่ ๑ ซ่อมแซมตึกพิพาท ทั้งอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองพร้อมครอบครัวเข้าอยู่อาศัยได้ โจทก์ทั้งสองกับครอบครัวได้เข้าอยู่อาศัยและทำการซ่อมแซมตึกพิพาทเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๒๗ จำเลยได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอหัวหินให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสองในข้อหาบุกรุกตึกแถวพิพาท โจทก์ทั้งสองถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและถูกควบคุมตัวที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอหัวหินรวม ๒ วัน เมื่อโจทก์ทั้งสองได้รับประกันตัวออกมาก็เข้าไปในตึกพิพาทไม่ได้เพราะจำเลยได้เอากุญแจมาใส่ประตูห้องไว้ ต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องโจทก์ทั้งสองข้อหาบุกรุก ปรากฏตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๕๕๗/๒๕๒๗ ของศาลชั้นต้นคดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยได้กระทำผิดฐานทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพและบุกรุกตามโจทก์ฟ้องหรือไม่ เห็นว่าเกี่ยวกับตึกพิพาทข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้โอนสิทธิการเช่าให้นายกำธรเป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท โดยวางมัดจำในวันทำสัญญา ๒๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่เหลือนายกำธรจะชำระภายในกำหนด ๑ เดือนครึ่ง ได้ทำหนังสือไว้เป็นหลักฐานตามเอกสารหมาย ล.๒ การที่นายกำธรรับโอนสิทธิการเช่าตึกพิพาทจากจำเลยเป็นจำนวนเงินสูงเช่นนั้น นายกำธรเองก็ต้องประสงค์ที่จะใช้ตึกพิพาทหาประโยชน์หรืออยู่อาศัย จึงน่าเชื่อว่านายกำธรคงให้จำเลยมอบตึกพิพาทให้ตนเข้าครอบครองทำประโยชน์ตั้งแต่วันแรกที่ตกลงทำสัญญาและวางเงินมัดจำนั้นแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าถ้าจะมีการมอบการครอบครองตึกพิพาทให้นายกำธร ก็น่าจะมีข้อความใดระบุไว้ในสัญญาด้วยเพื่อให้เห็นว่าจำเลยได้มอบการครอบครองตึกแถวพิพาทพร้อมทั้งมอบกุญแจให้ ศาลฎีกาเห็นว่าถึงแม้ไม่มีข้อความระบุว่าได้มีการมอบการครอบครองตึกพิพาทก็ตาม ก็จะฟังว่า จำเลยไม่ได้มอบการครอบครองตึกพิพาทให้นายกำธรหาได้ไม่ เพราะการส่งมอบตึกพิพาทให้แก่กันไม่จำต้องทำเป็นรูปแบบสัญญา เป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายทำความตกลงกันเอง และการที่นายกำธรจ้างให้โจทก์ซ่อมแซมตึกพิพาทโดยว่าจ้างเป็นเงินจำนวนมากก็เป็นเหตุผลอีกประการหนึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยน่าจะส่งมอบตึกพิพาทให้นายกำธรเข้าครอบครองทำประโยชน์แล้ว เพราะถ้าไม่เช่นนั้นนายกำธรจะจ้างโจทก์ให้ซ่อมแซมตึกพิพาทได้อย่างไร และที่จำเลยอ้างว่ากุญแจห้องที่เกิดเหตุหายโดยนายเล็กหรือดำรงค์ยุติธรรม ยืมไปเปิดขอใช้น้ำแล้วทำหาย จึงปิดประตูห้องที่เกิดเหตุไว้เฉยๆ ตั้งแต่กลางปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ก็ไม่เป็นเหตุผลให้รับฟังได้ เพราะนายลี เจริญใจ บุตรเขยจำเลยเองเบิกความว่าไม่เคยเห็นนายเล็กใช้น้ำที่ห้องพิพาทนี้เลย จำเลยเองแม้จะมีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพมหานคร แต่ก็ได้ความจากนางวิไล เจริญใจ บุตรจำเลยว่าส่วนมากจำเลยจะมาอยู่ที่อำเภอหัวหิน ซึ่งมีบ้านไม่ไกลจากตึกพิพาท จึงเชื่อว่าจำเลยต้องเห็นโจทก์ทั้งสองเข้าไปอยู่อาศัย ทั้งเห็นมีการซ่อมแซมตึกพิพาท แต่ก็ไม่ได้ทักท้วงอ้างสิทธิครอบครองตึกพิพาทต่อนายกำธรแต่อย่างใด ปล่อยระยะเวลาให้ล่วงเลยไปนานจึงได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอหัวหินให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสองในข้อหาบุกรุกตึกพิพาท พฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวส่อชี้ให้เห็นข้อพิรุธของจำเลย พยานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ ที่โจทก์ทั้งสองกับพวกเข้าไปอยู่ในตึกพิพาทเป็นการอยู่โดยอาศัยสิทธิของนายกำธรจ้างให้โจทก์ทำการซ่อมแซมตึกพิพาทซึ่งนายกำธรยังคงมีสิทธิครอบครองอยู่ การที่นายกำธรไม่ชำระเงินค่าสิทธิการเช่าส่วนที่ยังติดค้างให้แก่จำเลยเป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องไปว่ากล่าวกับนายกำธรทางส่วนแพ่ง จำเลยไม่มีสิทธิที่จะเอากุญแจไปใส่ประตูตึกพิพาท การกระทำของจำเลยเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งโจทก์ทั้งสองอาศัยสิทธิจากนายกำธร อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๕ (๓) แต่การที่จำเลยใส่กุญแจประตูตึกพิพาทจนเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองไม่สามารถเข้าไปใช้ตึกพิพาทได้นั้น ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังโจทก์หรือกระทำด้วยประการใดให้โจทก์ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย จำเลยจึงไม่มีความผิดตามมาตรา ๓๑๐ วรรคแรก อีกบทหนึ่งด้วย ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๖๕ (๓) ลงโทษจำคุก ๓ เดือน ปรับ ๒,๐๐๐ บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ไม่ชำระค่าปรับบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.