คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4283/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัยระบุว่าการกระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายต่อพนักงานของบริษัท ฯ บริษัทจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย โดยมิได้ระบุว่าต้องเป็นการกระทำเฉพาะภายในบริษัท ฯ ดังนั้น แม้โจทก์จะตบหน้า ส. ซึ่งเป็นพนักงานด้วยกันภายนอกบริษัท ฯ ก็ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวแล้ว การที่บริษัทจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงไม่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยทั้งสองรับโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำต่อมาจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ทำร้ายร่างกายนายสุพจน์ พนักงานของจำเลยที่ ๑ ที่ร้านขายข้าวแกงนอกบริเวณบริษัทจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยทั้งสองอ้างว่าเป็นความผิดต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ ๑ เกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เพราะข้อตกลงดังกล่าวใช้บังคับได้เฉพาะภายในบริเวณบริษัทของจำเลยที่ ๑ เท่านั้น ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยทั้งสองและรับโจทก์กลับเข้าทำงาน โดยให้จำเลยทั้งสองจ่ายเงินเดือนนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันกลับเข้าทำงาน
จำเลยทั้งสองให้การว่า การทำร้ายร่างกายพนักงานของบริษัทโดยเจตนาเป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง อันเป็นความผิดร้ายแรงมีโทษถึงขั้นเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ข้อตกลงนี้มีผลใช้บังคับโดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นการกระทำภายในบริษัท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างบริษัทโรงงานทอผ้ากรุงเทพ จำกัด กับสหภาพแรงงานทอผ้ากรุงเทพ ว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัยระบุว่า การกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายต่อพนักงานของบริษัท ฯ หัวหน้างาน ยามรักษาการณ์ โดยเจตนา บริษัท ฯ จะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวมิได้ระบุว่าจะต้องเป็นการกระทำเฉพาะภายในบริเวณบริษัทของจำเลยที่ ๑ แต่อย่างใด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการทำร้ายพนักงานของบริษัทด้วยกันนั้น แม้จะเป็นการกระทำนอกบริษัท ก็จะเป็นเหตุให้เกิดการแตกแยกความสามัคคีในหมู่พนักงานด้วยกัน อันจะเป็นเหตุให้ต้องกระทบกระเทือนต่อการดำเนินงานของบริษัทจำเลยที่ ๑ ได้ ฉะนั้น การที่โจทก์ตบหน้านายสุพจน์ ด้วยเหตุที่โจทก์เข้าใจว่านายสุพจน์เป็นผู้รายงานหัวหน้าโจทก์ว่าโจทก์ละทิ้งงานจนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องถูกพักงาน แม้ที่เกิดเหตุจะเป็นภายนอกบริษัทของจำเลยที่ ๑ ก็ตาม ก็ถือได้ว่าการกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้วทั้งพฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวก็เป็นเหตุอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ กรณีมิใช่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
พิพากษายืน

Share