แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยตกลงกันกำหนดวันนัดสืบพยานจำเลยซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนในวันที่ 8 มิถุนายน 2527 มิใช่วันที่ 8 พฤษภาคม 2527 ตามที่ศาลจดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นออกนั่งพิจารณาสืบพยานจำเลยในวันที่ 8 พฤษภาคม 2527 และมีคำสั่งว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณาและสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ จึงเป็นคำสั่งจำหน่ายคดีโดยที่โจทก์จำเลยไม่ได้ขาดนัดพิจารณาเป็นคำสั่งที่เกิดจากการผิดหลงไม่มีผลบังคับตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 200 ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความว่าด้วยการพิจารณาโดยขาดนัด ศาลชั้นต้นเพิกถอนการพิจารณาคดีที่ผิดระเบียบโดยผิดหลงนั้นได้ ตามมาตรา 27
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามเช็คพร้อมทั้งดอกเบี้ยให้โจทก์
จำเลยให้การปฏิเสธความรับผิด
ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยนำสืบพยานก่อน ครั้นถึงวันนัดคือวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๒๗ เวลา ๘.๓๐ นาฬิกา ทั้งโจทก์และจำเลยไม่มาศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่า ความจริงโจทก์และจำเลยกำหนดนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๒๗ ไม่ใช่วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๒๗ จึงขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสีย จำเลยยื่นคำแถลงคัดค้าน
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วเชื่อว่า โจทก์และจำเลยตกลงนัดสืบพยานจำเลยวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๒๗ จริง จึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่จำหน่ายคดีนั้นเสีย ให้นัดสืบพยานจำเลยต่อไปใหม่
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ได้ความว่าครั้งแรกศาลชั้นต้นนัดสืบพยานจำเลย วันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๒๗ เมื่อถึงวันนัดทนายจำเลยป่วยและขอเลื่อนคดี ศาลอนุญาตให้เลื่อนการสืบพยานจำเลยไป ครั้นวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๒๗ เวลา ๘.๓๐ นาฬิกาปรากฏว่าทั้งโจทก์จำเลยไม่มาศาลศาลจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๐ ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า ความจริงโจทก์จำเลยตกลงนัดสืบพยานจำเลยวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๒๗ มิใช่วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๒๗ จึงขอให้เพิกถอนคำสั่งที่สั่งจ่ายคดีนั้นเสีย
จำเลยฎีกาว่า การที่จะยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีได้นั้นจะต้องเป็นกรณีที่ศาลมีคำสั่งไปโดยผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗ คดีนี้ศาลนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๒๗ ซึ่งทนายโจทก์และทนายจำเลยได้ลงลายมือชื่อทราบนัดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาโดยชอบแล้วเมื่อถึงวันนัดคู่ความไม่มาศาล ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ มาตรา ๒๐๐ จึงไม่เป็นการผิดระเบียบ ศาลนั้นเองจะเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีไม่ได้ พิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบในชั้นไต่สวนคำร้องของโจทก์แล้วปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางในคดีหมายเลขดำที่ ๓๑/๒๕๒๗ ลงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๒๗ ซึ่งทนายโจทก์เป็นทนายความในคดีดังกล่าวว่า ศาลแรงงานกลางนัดสืบพยานจำเลยวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๒๗ เวลา ๙ นาฬิกา และตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางลงวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๒๗ ก็ปรากฏว่าทนายโจทก์ได้ไปที่ศาลแรงงานกลางตามนัด จึงน่าเชื่อว่า โจทก์จำเลยได้ตกลงกันกำหนดวันนัดสืบพยานจำเลยคดีนี้ในวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๒๗ มิใช่วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๒๗ตามที่ศาลจดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาเพราะทนายโจทก์ย่อมจะไม่กำหนดวันนัดในดคีที่ศาลแรงงานกลางซึ่งนัดไว้ก่อนกับคดีของศาลนี้ในวันเดียวกัน ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่านัดสืบพยานจำเลยในวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๒๗ และได้มีคำสั่งในวันดังกล่าวว่า คู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณาและสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความจึงเป็นคำสั่งจำหน่ายคดีโดยที่โจทก์จำเลยไม่ ได้ขาดนัดพิจารณา เป็นคำสั่งที่เกิดจากการผิดหลงไม่มีผลบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๐ ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา โดยขาดนัดที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนการพิจารณาคดีที่ผิดระเบียบโดยผิดหลงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เป็นการชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.