แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 3 โดยมีเงื่อนไขว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอน จำเลยที่ 3 เอาประกันภัยรถยนต์คันนี้ไว้กับจำเลยที่ 4 กรมธรรม์ประกันภัยมีข้อความว่า ‘บริษัทจะถือบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง………’ ดังนี้การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปทำละเมิดต่อโจทก์ ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ขับรถโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัยและมีฐานะเป็นเสมือนผู้เอาประกันภัยเอง จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัย (อ้างฎีกาที่ 3583/2529) ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะนายจ้าง สำหรับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของรถและเป็นผู้เอาประกันภัยนั้น ไม่ได้ความว่าเป็นผู้ครอบครองด้วย จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการเชิดจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนทำสัญญาประกันภัย เท่ากับจำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 4 เองนั้น โจทก์มิได้กล่าวไว้ในคำฟ้อง ศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ส.บ.๐๘๘๐๑ ของโจทก์ที่ ๒ จำเลยที่ ๓ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ต.ก.๐๓๘๖๓ จำเลยที่ ๔ ได้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันดังกล่าวไว้ จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ต.ก.๐๓๘๖๓ ด้วยความประมาท เป็นเหตุให้ชนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ส.บ.๐๘๘๐๑ เสียหาย โจทก์ที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๒ แล้วบางส่วน ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๑ จำนวน ๑๑๑,๑๐๐ โจทก์ที่ ๒ จำนวน ๑๐๗,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ต.ก.๐๓๘๖๓ และได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ ๔ ขณะเกิดเหตุรถคันนี้ไม่อยู่ในความครอบครองใช้ประโยชน์และรับผิดของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เหตุเกิดเพราะความประมาทของนายสำราญ ผู้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ส.บ.๐๘๘๐๑ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ชำระเงินจำนวน ๙๙,๕๐๐ บาทแก่โจทก์ที่ ๑ พร้อมด้วยดอกเบี้ย และให้ชำระเงินจำนวน ๒๕,๐๐๐ บาทแก่โจทก์ที่ ๒ พร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ ๒ ได้เอาประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ส.บ.๐๘๘๐๑ ไว้กับโจทก์ที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ได้ทำสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ต.ก.๐๓๘๖๓ จากจำเลยที่ ๓ แต่กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปเป็นของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๓ ได้เอาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้กับจำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ขับรถยนต์ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ โดยประมาทชนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ส.บ.๐๘๘๐๑ เสียหาย สัญญาประกันภัยที่จำเลยที่ ๓ ทำขึ้นกับจำเลยที่ ๔ มีข้อตกลงว่า บริษัทจะถือบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง………..’ เห็นว่ากรณีนี้จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวได้นำรถยนต์ไปใช้โดยให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างของตนเป็นคนขับแล้วเกิดเหตุคดีนี้ จึงต้องถือว่าจำเลยที่ ๑ ขับรถโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ ๓ และมีฐานะเป็นเสมือนผู้เอาประกันภัยเอง ตามข้อตกลงยินยอมระหว่างจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ดังกล่าว จำเลยที่ ๑ ขับรถโดยประมาทและทำละเมิดเกิดความเสียหายขึ้น จำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดในฐานะนายจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๕ และจำเลยที่ ๔ ต้องรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยตามข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ดังได้วินิจฉัยมาแล้ว สำหรับจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าของรถและเป็นผู้เอาประกันภัยนั้น ไม่ได้ความว่าเป็นผู้ครอบครองรถด้วย จำเลยที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ที่โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ฎีกาว่า คดีนี้ถือได้ว่า จำเลยที่ ๒ เป็นตัวการเชิดจำเลยที่ ๓ ให้เป็นตัวแทนทำสัญญาประกันภัยตามเอกสารหมาย ล.๒ เท่ากับจำเลยที่ ๒ เข้าทำสัญญากับจำเลยที่ ๔ เอง เมื่อจำเลยที่ ๑ ขับรถโดยประมาทชนรถโจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ย่อมฟ้องจำเลยทั้งสี่ให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้นั้น เห็นว่าประเด็นข้อนี้โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ มิได้ยกขึ้นอ้างไว้ในคำฟ้อง ชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้ไม่ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๔ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ รับผิดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์