คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 213/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระเบียบบริษัท ฯ จำเลยว่าด้วยการลาได้กำหนดไว้ว่าพนักงานที่ขาดงานในรอบปีจะได้รับโทษทางวินัยตามลำดับ คือ ขาดงานครั้งแรกจะถูกตัดเงินเดือนร้อยละ 5 ขาดงานครั้งที่ 2 ถูกตัดเงินเดือนร้อยละ 6 ขาดงานครั้งที่ 3 ถ้าได้ขาดงานมาแล้วในครั้งที่ 1 ที่ 2 รวมกับครั้งที่ 3 เกินกว่า 10 วันให้ลงโทษไล่ออกฐานมีพฤติการณ์แสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบคำสั่งและข้อบังคับของบริษัท ฯ ดังนั้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัท ฯ ขาดงาน 3 ครั้ง โดยครั้งแรกขาดงานรวม 7 วัน ครั้งที่ 2 ขาดงานรวม 1 วันครั้งที่ 3 ขาดงานรวม 6 วัน โจทก์ขาดงานทั้งสามครั้งรวม 14 วัน ต้องด้วยระเบียบข้อบังคับของบริษัท ฯ การที่บริษัท ฯ ไล่โจทก์ออกจากงาน จึงเป็นการลงโทษที่ถูกต้องตามระเบียบนั้นแล้ว หาจำเป็นต้องลงโทษตามขั้นตอนตั้งแต่การขาดงานครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ก่อนไม่ เพราะการขาดงานในครั้งที่ 1 และที่ 2 นั้น ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ก็ทำรายงานเพื่อพิจารณาโทษของโจทก์อยู่แล้วซึ่งต้องใช้เวลาบ้าง ทั้งโจทก์ขาดงานในระยะที่ใกล้เคียงกัน บริษัท ฯ จึงนำการขาดงานทั้งสามครั้งมารวมพิจารณาลงโทษได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่า มีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบคำสั่งและข้อบังคับของบริษัท โดยขาดงาน ๗ วัน ๑ วัน และ ๖ วัน ตามลำดับซึ่งตามระเบียบของบริษัท ฯ จำเลยได้กำหนดการลงโทษไว้ตามลำดับนั้น คือ ขาดงานครั้งแรกถูกตัดเงินเดือนร้อยละ ๕ ครั้งที่สองถูกตัดเงินเดือนร้อยละ ๖ หรือ ๗ ตามลำดับของจำนวนวันที่ขาด ฉะนั้นก่อนเลิกจ้าง พนักงานผู้นั้นจะต้องเคยถูกลงโทษด้วยการตัดเงินเดือนตามลำดับ ซึ่งเป็นเสมือนการเตือนให้รู้ตัวก่อนการถูกเลิกจ้าง จำเลยลงโทษไม่ชอบด้วยระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการลาจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้เพิกถอนคำสั่งและรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งอัตราค่าจ้างและสวัสดิการเดิม พร้อมทั้งจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะขาดงานรวม ๓ ครั้ง ระเบียบบริษัทฯ จำเลย ได้กำหนดบทลงโทษให้ไล่ออกจากงานเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิกลับเข้าทำงานหรือได้รับค่าเสียหายแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณาโจทก์ยอมรับว่าตามที่จำเลยแถลงเกี่ยวกับรายงานการขาดงานและการพิจารณาโทษเกี่ยวกับตัวโจทก์ และเอกสารต่าง ๆ ที่จำเลยส่งศาลนั้นเป็นความจริง แต่จำเลยมิได้ลงโทษโจทก์ตามขั้นตอนที่ปรากฏในระเบียบของจำเลย ศาลแรงงานกลางเห็นว่าตามคำแถลงของจำเลยและคำรับของโจทก์คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้ววินิจฉัยว่าคำสั่งของจำเลยที่ให้ไล่โจทก์ออกจากงานนั้นเป็นคำสั่งที่ชอบตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามระเบียบบริษัทขนส่ง จำกัด ว่าด้วยการลา พุทธศักราช ๒๕๒๒ ข้อ ๔๓ กำหนดไว้ว่า ‘พนักงานที่ขาดงานในรอบปีตามข้อ ๔๒ จักต้องได้รับโทษทางวินัย ดังนี้
๔๓.๑ ขาดงานครั้งที่ ๑ ให้ตัดเงินเดือนร้อยละ ๕ ของเงินเดือนคูณด้วยจำนวนวันที่ขาดงาน
๔๓.๒ ขาดงานครั้งที่ ๒ ให้ตัดเงินเดือนร้อยละ ๖ ของเงินเดือนคูณด้วยจำนวนวันที่ขาดงาน
ฯลฯ
๔๓.๕ ขาดงานครั้งที่ ๓ ถ้าได้ขาดงานมาแล้วในครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ รวมกับครั้งที่ ๓ แล้วเกินกว่า ๑๐ วันให้ลงโทษไล่ออกฐานมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบ คำสั่ง และข้อบังคับของบริษัทฯ’
ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ขาดงาน ๓ ครั้ง คือครั้งแรกขาดงานตั้งแต่วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๗ ถึงวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ รวม ๗ วัน ครั้งที่ ๒ ขาดงานในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ จำนวน ๑ วัน และครั้งที่ ๓ ขาดงานตั้งแต่วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๒๘ ถึงวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๒๘ รวม ๖ วัน รวมสามครั้งโจทก์ขาดงาน ๑๔ วัน กรณีจึงต้องด้วยระเบียบดังกล่าวข้อ ๔๓.๕ การที่จำเลยมีคำสั่งให้ไล่โจทก์ออกจากงาน จึงเป็นการลงโทษที่ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย หาจำเป็นต้องลงโทษตามขั้นตอนตั้งแต่การขาดงานครั้งที่ ๑ และครั้ง ๒ ก่อนไม่ เพราะการขาดงานครั้งที่ ๑ และที่ ๒ นั้น ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ก็ได้ทำรายงานเพื่อพิจารณาโทษของโจทก์อยู่แล้ว โดยต้องเสนอไปตามลำดับชั้น ซึ่งต้องใช้เวลาบ้าง แต่โจทก์ขาดงานแต่ละครั้งในระยะใกล้เคียงกันจำเลยยังไม่ทันมีคำสั่งลงโทษตามขั้นตอนดังกล่าว โจทก์ก็ขาดงานอีกในครั้งที่ ๓ จำเลยจึงนำมารวมพิจารณาลงโทษ โดยรวมการขาดงานของโจทก์ทั้งสามครั้งได้
พิพากษายืน.

Share