คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4723/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยมีกรณีพิพาทฟ้องร้องแย่งสิทธิครอบครองที่นาพิพาทกันระหว่างพิจารณาคดีนั้นศาลอนุญาตให้จำเลยเข้าทำนาพิพาทโดยเสียค่าเช่า จำเลยย่อมมีสิทธิครอบครองที่พิพาท การที่จำเลยหว่านถั่วเขียวลงในที่นาพิพาทแม้หลังจากศาลฎีกาพิพากษาให้ขับไล่จำเลยออกจากที่นาพิพาทแล้ว ก็เป็นกรณีที่จำเลยไม่ยอมสละการครอบครอง มิใช่เพิ่งเข้าไปครอบครองที่นาพิพาทในวันเวลาที่โจทก์ฟ้อง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก
หลักไม้ที่จ่าศาลปักไว้ในที่พิพาทเพื่อการรังวัดสอบเขตตามคำสั่งศาลเป็นเครื่องหมายเขตที่ทำขึ้นเป็นสังเขปเพื่อประโยชน์แก่การบังคับคดี มิใช่เครื่องหมายเขตแห่งอสังหาริมทรัพย์ การที่จำเลยถอนหลักไม้ดังกล่าวทิ้ง จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 363

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๒๕ เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันยักย้ายและทำลายเครื่องหมายเขตที่นาของนางจิ เจริญศักดิ์ ผู้เสียหายเพื่อถือเอาที่ดินนาอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหาย และเมื่อระหว่างวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๒๕ ถึงวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๒๕ เวลากลางวันกลางคืนติดต่อกัน จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันเข้าไปในที่นาซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยเข้าไปปลูกและหว่านถั่วเขียวเต็มเนื้อที่ เพื่อถือการครอบครอง อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข เหตุเกิดตำบลโนนคูณ อำเภอคอนสาม จังหวัดชัยภูมิ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒, ๓๖๓, ๓๖๕, ๘๓
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๖๒, ๓๖๓, ๓๖๕, ๘๓ ลงโทษบทหนักตามมาตรา ๓๖๓ ประกอบมาตรา ๓๖๕,๘๙, ๙๐ จำคุกคนละ ๖ เดือน
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า สำหรับความผิดฐานบุกรุกนั้นปรากฏว่า โจทก์จำเลยมีกรณีพิพาทฟ้องร้องแย่งสิทธิครอบครองที่นาพิพาทกันมาก่อนระหว่างการพิจารณา ศาลได้อนุญาตให้จำเลยเป็นฝ่ายได้เข้าทำนาพิพาทโดยเสียค่าเช่า จำเลยจึงมีสิทธิครอบครองที่พิพาท ปรากฏว่าหลังจากเสร็จการทำนาแล้ว จำเลยที่ ๓ ได้หว่านถั่วเขียวลงไปในที่พิพาท แม้จะเป็นเวลาภายหลังที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทแล้ว แต่จำเลยยังคงอาศัยสิทธิครอบครองอยู่เดิม มิใช่เพิ่งเข้าไปครอบครองที่พิพาทในวันเวลาที่โจทก์ฟ้อง ฉะนั้นการที่จำเลยยังคงอยู่ในที่พิพาทต่อมาจึงเป็นเรื่องไม่ยอมสละการครอบครอง หาเป็นความผิดทางอาญาดังฟ้องไม่ ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ฐานบุกรุกโดยยักย้ายและทำลายเครื่องหมายเขตที่นาของผู้เสียหายนั้น เห็นว่า หลักไม้ที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ถอนทิ้ง เป็นหลักไม้ที่จ่าศาลปักไว้เพื่อการรังวัดสอบเขตตามคำสั่งศาล หลักไม้ที่ปักไว้ดังกล่าวเป็นเพียงเครื่องหมายเขตที่ทำขึ้นเป็นสังเขปเพื่อประโยชน์แก่การบังคับคดี หาใช่หลักหรือเครื่องหมายเขตที่แสดงสิทธิแห่งอสังหาริมทรัพย์โดยแท้จริงไม่ การกระทำของจำเลยที่ ๓ ยังไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๓
พิพากษายืน

Share