คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4172/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลังเช็คมิใช่ผู้ออกเช็ค โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บรรยายว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ผู้ออกเช็คอย่างไร การกระทำของจำเลยที่ 2 ตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค
ชั้นไต่สวนมูลฟ้อง คดีความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้อง เฉพาะจำเลยที่ 1 ผู้ออกเช็คส่วนจำเลยที่ 2 ผู้สลักหลังเช็คให้ยกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ให้ประทับฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ด้วย ดังนี้ข้อเท็จจริงที่ว่าในวันออกเช็คจำเลยที่ 1 มีเงินในบัญชีพอจ่ายตามเช็คพิพาทหรือไม่ เป็นสาระสำคัญแห่งคดีที่จะแสดงให้เห็นได้ว่าคดีโจทก์มีมูลเป็นความผิดหรือไม่ แม้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ก็ต้องนำสืบให้ปรากฏถึงความข้อนี้ เมื่อโจทก์นำสืบแต่เพียงว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการออกเช็คโดยเจตนา ที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คเท่านั้น จึงฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง จำเลยที่ 1 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ออกเช็คลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๗ สั่งจ่ายเงินจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท ชำระหนี้แก่โจทก์ มีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้สลักหลัง ต่อมาวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๒๗ โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปขึ้นเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธ การจ่าย ให้เหตุผลว่าโปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งประทับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ให้ประทับฟ้องจำเลยที่ ๒ ด้วย
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบว่าในวันออกเช็คจำเลยมีเงินในบัญชีพอที่จะจ่ายตามเช็คหรือไม่ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ ด้วย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ปัญหาข้อแรกมีว่าคำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ นั้นโจทก์ได้บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ หรือไม่นั้น เห็นว่าตามมาตรา ๓ แห่ง พระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้มีใจความว่า “ผู้ใด” กระทำการตาม (๑) ถึง (๕) จึงจะมีความผิด กรณีตามฟ้องของโจทก์ผู้ที่จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวคือผู้ออกเช็ค สำหรับจำเลยที่ ๒ นั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่าเป็นผู้สลักหลังค้ำประกันผู้สั่งจ่ายคือจำเลยที่ ๑ เท่านั้น ดังนั้นจำเลยที่ ๒ มิใช่ผู้ออกเช็คทั้งตามฟ้องก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บรรยายว่าจำเลยที่ ๒ ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ ๑ อย่างไร การกระทำของจำเลยที่ ๒ ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗
สำหรับฎีกาข้อสุดท้ายที่ว่า จำเลยมิได้อุทธรณ์ขึ้นมาแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ ๑ ด้วยเป็นการไม่ชอบนั้น ข้อนี้เห็นว่า เช็คพิพาทที่โจทก์นำมาฟ้องลงวันสั่งจ่ายวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๗ แต่โจทก์นำไปขึ้นเงินวันที่ ๑๐ เดือนเดียวกัน ฉะนั้นวันออกเช็คคือวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๗ จำเลยมีเงินในบัญชีพอที่จะจ่ายได้ตามเช็คฉบับพิพาทหรือไม่ จึงเป็นสาระสำคัญแห่งคดีที่จะแสดงให้เห็นว่าคดีมีมูลความผิดดังฟ้องโจทก์หรือไม่แม้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ก็ต้องนำสืบให้ปรากฏถึงความข้อนี้ด้วย แต่คดีนี้โจทก์สืบเพียงว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คเท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ ๑ มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน

Share