คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4127/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ที่มีต่อโจทก์ เกิดขึ้นตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนระหว่างจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยกับจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 โดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาดังกล่าว จำเลยที่ 3 ย่อมยกเงื่อนไข ข้อยกเว้น และข้อจำกัดความรับผิดของตนที่กำหนดไว้ในสัญญาขึ้นต่อสู้กับโจทก์ได้ เว้นแต่เงื่อนไขข้อยกเว้นหรือข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวจะขัดต่อกฎหมาย
ข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลยที่ 3 ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ระบุว่าการประกันภัยไม่คุ้มครองถึงความรับผิดอันเกิดจากการขับขี่โดยบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ใด ๆ ใช้บังคับได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยในขณะเกิดเหตุโดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์เป็นการผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 2 และยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ได้จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารสองแถวยี่ห้อมิตซูบิซิ หมายเลขทะเบียน ม – ๐๘๕๔ นครปฐม จำเลยที่ ๓ เป็นผู้รับประกันวินาศภัยรถยนต์คันดังกล่าวในขณะเกิดเหตุ ในวันเวลาเกิดเหตุจำเลยที่ ๑ ลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์แต่หาได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอไม่ เป็นเหตุให้รถยนต์คันดังกล่าวแล่นชนเสาคอนกรีตติดตั้งโคมไฟฟ้าสาธารณะของโจทก์เป็นผลให้โคมไฟฟ้า กิ่งโคมและอุปกรณ์ไฟฟ้าของโจทก์ชำระเสียหาย โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเป็นเงิน ๕,๒๗๘.๔๖ บาท ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันและแทนกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันกระทำละเมิด จนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ ๓ ไม่ใช่ลูกจ้างและปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ และตามกรมธรรม์ประกันภัยของจำเลยที่ ๓ หากผู้ขับขี่ไม่มีใบอนุญาตจากทางการให้ขับขี่ได้ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิด ในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๑ ยังไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ได้ตามกฎหมาย ค่าเสียหายโจทก์อย่างสูงไม่เกิน ๑,๕๐๐ บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินจำนวนตามฟ้องให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันละเมิดจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ข้อยกเว้นความรับผิดตามสัญญาประกันภัยใช้บังคับหรือยกเป็นข้อต่อสู้ยันได้ทั้งผู้เอาประกันภัยและโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๘๗ เห็นได้ชัดว่า การประกันภัยค้ำจุนนั้นเป็นสัญญาที่ผู้รับประกันภัยยอมตนผูกพันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยที่เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในเมื่อผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก และในทางตรงกันข้าม หากผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิด ผู้รับประกันภัยก็ไม่ต้องรับผิดด้วย กฎหมายจึงบัญญัติให้บุคคลภายนอกผู้ต้องเสียหายมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ควรจะได้จากผู้รับประกันภัยโดยตรง เพียงแต่ต้องเรียกผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วยเท่านั้น ความรับผิดของจำเลยที่ ๓ ผู้รับประกันภัยที่มีต่อโจทก์ จึงเกิดขึ้นตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนระหว่างจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๓ ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนร่วมกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ โดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาดังกล่าว จำเลยที่ ๓ ย่อมยกเงื่อนไข ข้อยกเว้น และข้อจำกัดความรับผิดของตนที่กำหนดไว้ในสัญญาขึ้นต่อสู้กับโจทก์ได้เว้นแต่เงื่อนไข ข้อยกเว้น หรือข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวจะขัดต่อกฎหมาย แต่ข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลยที่ ๓ ตามกรมธรรม์ประกันภัย เอกสารหมาย ล.๑ ข้อ ๒.๑๓.๖ ระบุว่า การประกันภัยไม่คุ้มครองถึงความรับผิดอันเกิดจากการขับขี่โดยบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ใด ๆ ไม่ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด จึงใช้บังคับได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยในขณะเกิดเหตุโดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์อันผิดเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ ๒ ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวแล้ว และจำเลยที่ ๓ มีสิทธิยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ได้ จำเลยที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฯลฯ
พิพากษายืน

Share