แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เดิมที่พิพาทเป็นของ ผ. ซึ่งเป็นมารดาของโจทก์และ ก. หลังจาก ผ.ถึงแก่กรรมแล้วโจทก์ฟ้องก.ขอแบ่งมรดกของผ. แล้วโจทก์กับ ก. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยก.ยอมแบ่งที่พิพาทให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง แต่ก. กลับโอนที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 เสียแล้วจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 เช่าที่พิพาทปลูกสร้างอาคารสำหรับค้าไม้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในที่สุดจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความยอมโอนที่พิพาทให้โจทก์ และยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่พิพาทภายใน 3 เดือน ศาลพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้วดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 รับโอนที่พิพาทโดยรู้อยู่แล้วว่า ก. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งที่ดินให้โจทก์ จึงเป็นการรับโอนโดยไม่สุจริตและทำให้โจทก์เสียเปรียบ เมื่อรับโอนมาแล้วจำเลยที่ 1 เอาที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 เช่าเอาผลประโยชน์เป็นของตนแต่ผู้เดียว ทำให้โจทก์เสียหาย แม้สิ่งปลูกสร้างจะเป็นของจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่1 รู้อยู่แล้วว่าเป็นของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องจัดการให้จำเลยที่ 2 รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป การที่จำเลยที่ 1 เพียงแต่มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่รื้อถอนจำเลยที่ 1 ก็ไม่จัดการอย่างใดจนพ้นกำหนดเวลาที่โจทก์ผ่อนผัน จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และเมื่อจำเลยที่ 1 ยังคงปล่อยให้สิ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินของโจทก์โดยไม่มีสิทธิจะอยู่ต่อไปได้ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ด้วย
เมื่อคดีก่อนศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ออกไปจากที่พิพาทแล้ว ก็ไม่จำต้องพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนขนย้ายสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่พิพาทของโจทก์อีก