คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2731/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทจำเลยจดทะเบียนเลิกบริษัท แล้วจดทะเบียนตั้งบริษัท ส.พรเจริญโภคภัณฑ์คอนติเนตัล จำกัด ขึ้นมาใหม่ โดยใช้สถานที่ตั้งบริษัทเดิม โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทจำเลยไม่อาจรู้ได้ และบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ก็ได้รับโอนโจทก์กับคนงานอื่นมาเป็นลูกจ้างโดยรับโอนอายุการทำงานมาด้วย มิได้มีการตกลงจ้างกันใหม่แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัทที่ได้จดทะเบียนตั้งขึ้นใหม่ และโจทก์ก็มุ่งประสงค์ที่จะฟ้องบริษัทที่เป็นนายจ้างของโจทก์ให้รับผิดในค่าชดเชยนั่นเอง แม้จะฟ้องในชื่อเดิมก็มิใช่เป็นเรื่องฟ้องผิดตัว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน ๒๑,๐๐๐ บาทแก่โจทก์
บริษัท ส.พรเจริญโภคภัณฑ์คอนติเนตัล จำกัด ยื่นคำให้การว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามฟ้อง โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างบริษัท ส.พรเจริญโภคภัณฑ์คอนติเนตัล จำกัด แต่ยื่นฟ้องบริษัทจำเลย จึงเป็นการฟ้องผิดตัว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า การที่โจทก์ฟ้องจำเลยไม่ใช่ฟ้องผิดตัว เพียงแต่ฟ้องผิดชื่อเท่านั้น พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ภายใต้ชื่อที่ถูกต้อง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยเฉพาะอุทธรณ์ของจำเลยข้อที่ว่าโจทก์ฟ้องผิดตัวหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวจำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยจดทะเบียนเลิกบริษัทเดิมแล้ว จึงถือว่าบริษัทเดิมไม่มีตัวตนตามกฎหมายอีกต่อไป พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่า นางสมพร โชคนิธิเทศ ได้จดทะเบียนเลิกบริษัท ส.พรเจริญพืชผล จำกัด แล้วจดทะเบียนตั้งบริษัท ส.พรเจริญโภคภัณฑ์คอนติเนตัล จำกัด ขึ้นมาใหม่ โดยใช้สถานที่ตั้งบริษัทเดิม โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัท ส.พรเจริญพืชผล จำกัดไม่อาจรู้ได้ และเมื่อตั้งบริษัทใหม่แล้ว ก็ได้รับโอนโจทก์กับคนงานอื่นมาเป็นลูกจ้างของบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ โดยได้รับโอนอายุการทำงานมาด้วย มิได้มีการตกลงจ้างใหม่แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัท ส.พรเจริญโภคภัณฑ์คอนติเนตัล จำกัด ที่จดทะเบียนตั้งขึ้นใหม่ และโจทก์มุ่งประสงค์ที่จะฟ้องบริษัทที่เป็นนายจ้างของโจทก์ให้รับผิดในค่าชดเชยนั่นเอง แม้โจทก์จะฟ้องบังคับ ส.พรเจริญพืชผล จำกัด อื่นเป็นชื่อบริษัทเดิมเป็นจำเลยก็ตาม ก็มิใช่เป็นเรื่องฟ้องผิดตัวดังอุทธรณ์ของจำเลย จึงไม่ทำให้ฟ้องแย้งโจทก์เสียไป
พิพากษายืน

Share