คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3779/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้จะมีข้อความในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีที่ร้อยตำรวจโท ม. บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดและยอมชดใช้ค่าเสียหายให้กับรถของ น. รถของ ค. และรถของ ส. ทุกประการ ในส่วนของความเสียหายจะไปตรวจสอบอีกครั้งและคู่กรณีแจ้งว่าจะไปตกลงชดใช้ค่าเสียหายกันเอง แต่ข้อความดังกล่าวก็ได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดว่าเป็นผู้ก่อใหเกิดความเสียหายและตกลงชดใช้ค่าเสียหายให้แก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น โดยไม่มีรายละเอียดหรือข้อตกลงที่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ต้องชำระ วิธีการชำระ ตลอดจนกำหนดเวลาชำระที่แน่นอนอันจะทำให้ปราศจากการโต้แย้งกันอีก นอกจากนี้บันทึกข้อตกลงดังกล่าวหาได้มีข้อความโดยชัดแจ้งว่าคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงระงับข้อพิพาทโดยยอมสละข้อเรียกร้องอื่นทั้งสิ้นแต่อย่างใด ดังนี้ ข้อความในเอกสารดังกล่าวจึงมิใช่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความอันจะทำให้หนี้ในมูลละเมิดระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ถึง 852

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 329,543.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 323,478.10 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การทำนองเดียวกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้เงินจำนวน 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินจำนวน 323,478.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความอันจะทำให้หนี้ในมูลละเมิดระงับสิ้นไปหรือไม่ และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์กระทำไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม จำเลยที่ 2 มีสิทธิบอกล้างหรือไม่ ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียเลยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เห็นว่า บันทึกข้อความในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี แม้จะมีข้อความที่ร้อยตำรวจโทไมตรีบันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า เหตุครั้งนี้ จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดและยอมชดใช้ค่าเสียหายให้กับรถของนายนรากร รถของนายคมกริช และรถของนายสมควรทุกประการ ในส่วนของความเสียหายจะไปตรวจสอบอีกครั้ง และคู่กรณีแจ้งว่าจะไปตกลงชดใช้ค่าเสียหายกันเอง… คู่กรณียินยอม แต่ข้อความในบันทึกดังกล่าวก็ได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายและตกลงชดใช้ค่าเสียหายให้แก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น โดยไม่มีรายละเอียดหรือข้อตกลงที่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ต้องชำระและวิธีการชำระ ตลอดจนกำหนดเวลาที่แน่นอนที่ให้ชำระ อันจะทำให้ปราศจากการโต้แย้งกันอีก นอกจากนี้บันทึกข้อตกลงดังกล่าวหาได้มีข้อความโดยชัดแจ้งว่าคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงระงับข้อพิพาทโดยยอมสละข้อเรียกร้องอื่นทั้งสิ้นแต่อย่างใดไม่ ดังนี้ ข้อความในเอกสารดังกล่าวจึงมิใช่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความอันจะทำให้หนี้ในมูลละเมิดระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ถึง 852 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลยที่ 1 มีสิทธิบอกล้างบันทึกข้อความดังกล่าวได้หรือไม่ต่อไป ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถชนรถคันที่นายนรากรขับ หากแต่เป็นรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้าซึ่งแล่นอยู่ข้างหน้ารถคันที่จำเลยที่ 1 ขับในช่องเดินรถที่ 1 แล้วขับรถแซงเข้าไปในช่องเดินรถที่ 2 ด้วยความเร็วในระยะกระชั้นชิด ทำให้เฉี่ยวชนล้อหรือบังโกลนหลังของรถคันที่นายนรากรขับซึ่งแล่นอยู่ในช่องเดินรถที่ 2 ในขณะนั้น นายนรากรตกใจจึงหมุนพวงมาลัยรถหักหลบไปมาทำให้เฉี่ยวชนขอบทางด้านขวาและรถยนต์คันอื่นอีก จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถโดยประมาทและมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุที่เกิดแก่รถที่โจทก์รับประกันภัย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดต่อโจทก์สูงเกินไปนั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ชอบด้วยเหตุผลแล้ว และไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share