แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อบังคับองค์การคลังสินค้าว่าด้วยกองทุนบำเหน็จพนักงาน พ.ศ. 2528 ข้อ 9 วรรค 2 ประกอบกับข้อ 11 ระบุกรณีที่พนักงานจะได้รับเงินบำเหน็จเมื่อลาออกโดยได้รับอนุญาตว่าต้องทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีบริบูรณ์ และการนับเวลาทำงานสำหรับคำนวณบำเหน็จนั้น. ให้นับตั้งแต่วันที่พนักงานเข้าประจำทำงานจนถึงวันสุดท้ายที่พ้นจากตำแหน่งหน้าที่หักด้วยระยะเวลาที่ผู้นั้นลา ดังนั้น เกณฑ์คำนวณนับเวลาทำงานของโจทก์จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่โจทก์เริ่มเข้าทำงานกับจำเลยจนถึงวันที่โจทก์ได้รับอนุญาตจากจำเลยให้ลาอก ซึ่งคำนวณแล้วไม่ถึงห้าปีบริบูรณ์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับเงินบำเหน็จ ส่วนหลักเกณฑ์ในข้อ 14 นั้น เป็นการกำหนดเพื่อคำนวณบำเหน็จที่จะจ่ายให้แก่พนักงานเมื่อพนักงานนั้นมีสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จแล้ว โดยคำนวณการจ่ายตามจำนวนปีที่โจทก์ทำงาน อนุโลมให้ถือเอาจำนวนเดือนที่ถึง 6 เดือนในเศษของปีสุดท้ายนับเป็น 1 ปี มาคูณกับอัตราเงินเดือนเดือนสุดท้ายได้ จะนำมาเป็นเกณฑ์คำนวณนับเวลาทำงานของโจทก์ที่จะมีสิทธิรับเงินบำเหน็จหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๒๓ จำเลยจ้างโจทก์เป็นพนักงาน ต่อมาโจทก์ลาออกจากงาน และจำเลยมีคำสั่งอนุญาตเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๒๘ โจทก์มีระยะเวลาปฏิบัติงาน ๔ ปี ๗ เดือน๑๙ วัน จำเลยมีข้อบังคับว่าด้วยกองทุนบำเหน็จพนักงาน พ.ศ. ๒๕๒๘ ถือว่าโจทก์มีระยะเวลาปฏิบัติงาน ๕ ปี มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยให้การว่า โจทก์ทำงานยังไม่ครบ ๕ ปี จึงไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จ
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จพนักงาน กำหนดการคำนวณระยะเวลาปฏิบัติงานไว้ว่าต้องทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีบริบูรณ์ โจทก์ทำงานมายังไม่ครบห้าปีบริบูรณ์ จึงไม่มีสิทธิรับเงินบำเหน็จ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ปฏิบัติงานกับจำเลยรวมได้ ๔ ปี ๗ เดือน ๑๙ วัน ปัญหามีว่าระยะเวลาดังกล่าวจะถือว่าโจทก์มีระยะเวลาปฏิบัติงานครบ ๕ ปี ตามข้อบังคับของจำเลยซึ่งจะทำให้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จหรือไม่ เห็นว่า ข้อบังคับองค์การคลังสินค้าว่าด้วยกองทุนบำเหน็จพนักงาน พ.ศ. ๒๕๒๘ ข้อ ๙ วรรค ๒ ประกอบกับข้อ ๑๑ ระบุกรณีที่พนักงานจะได้รับเงินบำเหน็จเมื่อลาออกโดยได้รับอนุญาตว่าต้องทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีบริบูรณ์ และการนับเวลาทำงานสำหรับคำนวณบำเหน็จนั้นให้นับตั้งแต่วันที่พนักงานเข้าประจำทำงานในองค์การคลังสินค้าจนถึงวันสุดท้ายที่พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ในองค์การคลังสินค้า หักด้วยระยะเวลาที่ผู้นั้นลา ดังนั้น ตามเกณฑ์คำนวณนับเวลาทำงานของโจทก์ตามข้อบังคับดังกล่าวจึงต้องเริ่มตั้งแต่วันที่โจทก์เริ่มเข้าทำงานกับจำเลยจนถึงวันที่โจทก์ได้รับอนุญาตจากจำเลยให้ลาออกซึ่งคำนวณนับเวลาทำงานของโจทก์ไม่ถึงห้าปีบริบูรณ์ ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการที่จะพิพากษาว่าโจทก์จะมีระยะเวลาปฏิบัติงานเท่าใด ต้องคำนวณตามหลักเกณฑ์ข้อ ๑๔ ที่กำหนดว่า ‘การคำนวณบำเหน็จนั้นให้ตั้งอัตราเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีของการทำงานโดยนับ ๑๒ เดือน เป็น ๑ ปี เศษของปีถ้าถึง ๖ เดือน ให้นับเป็น๑ ปีฯลฯ’ นั้น เห็นว่า ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการกำหนดเพื่อคำนวณบำเหน็จที่จะจ่ายให้แก่พนักงานเมื่อพนักงานนั้นมีสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จแล้ว หาใช่เป็นเกณฑ์คำนวณนับเวลาทำงานของโจทก์ที่จะมีสิทธิรับเงินบำเหน็จไม่โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับเงินบำเหน็จ คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๔๑๐/๒๕๒๗ ที่โจทก์อ้างมาข้อเท็จจริงตามข้อบังคับของจำเลยไม่ตรงกับปัญหาในคดีนี้
พิพากษายืน.