แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ขณะที่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ไปจับกุมจำเลย จำเลยยิงโจทก์ที่ 3 ถูกที่ต้นคอ ในขณะที่มีการยื้อแย่งปืนกันโดยจำเลยมิได้มีโอกาสเลือกยิง เมื่อจำเลยยิงโจทก์ที่ 3 ล้มลงแล้ว โจทก์ที่ 3 ไม่อยู่ในฐานะที่จะต่อสู้กับจำเลย จำเลยมีโอกาสจะยิงโจทก์ที่ 3 อีกเป็นเวลานานแต่จำเลยก็หาได้ยิงโจทก์ที่ 3 ไม่ จึงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าโจทก์ที่ 3 ส่วนที่ จำเลยยิงโจทก์ที่ 2 ปรากฏว่าขณะยิงจำเลยอยู่ใกล้กับโจทก์ที่ 2 และมีโอกาสจะเลือกยิงโจทก์ที่ 2 ตรงไหนก็ได้ แต่จำเลยกลับยิงที่ขาของโจทก์ที่ 2 แสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าโจทก์ที่ 2 เพราะหากจำเลยมีเจตนาฆ่าโจทก์ที่ 2 จำเลยคงยิงที่อวัยวะสำคัญกว่านี้
ในคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา288, 289, 80 เมื่อทางพิจารณาปรากฏว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดเพียงฐานทำร้ายร่างกายโจทก์ที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 296 และโจทก์ที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 298 ศาลลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 และ 298 ได้.
ฟ้องว่าโจทก์ที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัสต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน หรือประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วันแต่โจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏว่า โจทก์ที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กายสาหัสดังที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ลงโทษจำเลยฐานทำให้ได้รับอันตรายสาหัสไม่ได้
โจทก์ที่ 3 ถูกยิงต้องรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 12 วัน แล้วไปรักษาตัวต่อที่บ้านอีก โจทก์ที่ 3 ต้องหยุดทำงานเกือบ 1 เดือนแพทย์ผู้ทำการตรวจบาดแผลโจทก์ที่ 3 ได้ให้ความเห็นว่าบาดแผลหายได้ภายใน 30 วัน ฟังได้ว่าโจทก์ที่ 3 ได้รับบาดเจ็บจากการยิงของจำเลยจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวน ศาลชั้นต้นสั่งรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยเรียกพนักงานอัยการในสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ ๑ เรียกพันตำรวจเอกพร้อม นิคมภักดี โจทก์สำนวนที่สองว่า โจทก์ที่ ๒ และเรียกพันตำรวจเอกพยุธ เอกรัตน์ โจทก์สำนวนที่สามว่า โจทก์ที่ ๓
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องใจความว่า เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๕ โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานไปทำการจับกุมจำเลยในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ จำเลยได้ใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ โดยเจตนาฆ่า จำเลยได้กระทำโดยตลอดแล้ว แต่ไม่บรรลุผลเพราะกระสุนปืนถูกอวัยวะที่ไม่สำคัญ โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ จึงไม่ถึงแก่ความตายเพียงแต่ได้รับอันตรายแก่กายสาหัส ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๘, ๑๔๐,๑๙๐, ๒๘๘, ๒๘๙ (๒),(๗), ๘๐, ๓๐๙, ๙๑
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องสำหรับคดีสำนวนที่สองและที่สามแล้ว มีคำสั่งว่าคดีมีมูลทุกข้อหาทั้งสองสำนวน
จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสามสำนวน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๒๘๘ ประกอบมาตรา ๘๐ กระทงหนึ่ง จำคุก ๑๒ ปี ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๐ วรรคสาม และมาตรา ๒๘๙ (๒) ประกอบมาตรา ๘๐ เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษตามมาตรา ๒๘๙ (๒) ประกอบมาตรา ๘๐ ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ประกอบมาตรา ๕๒ (๑) จำคุกตลอดชีวิต และผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๙ วรรคสอง จำคุก ๑ ปี เนื่องจากศาลพิพากษาลงโทษในความผิดตามมาตรา ๒๘๙ (๒) ประกอบมาตรา ๘๐ จำคุกตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจนำโทษในความผิดกระทงอื่นมารวมกับโทษจำคุกตลอดชีวิตและไม่อาจนับโทษจำเลยในสำนวนทั้งสามติดต่อกันตามที่โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ ขอมา คงจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียวปืน กระสุนปืนและปลอกกระสุนปืนของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการกระทำผิดให้ริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ทั้งสามสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ ประกอบด้วยมาตรา ๘๐ เป็น ๒ กระทง แต่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกกระทงหนึ่ง ๑๒ ปี และอีกกระทงหนึ่งตลอดชีวิต โจทก์ทุกสำนวนไม่อุทธรณ์จึงลงโทษตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด ทั้งจำเลยยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๐ วรรคสามและมาตรา ๓๐๙ อีกด้วย แต่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา ๒๘๙ ประกอบด้วยมาตรา ๘๐ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุกตลอดชีวิต นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาทั้งสามสำนวน
ในปัญหาว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าโจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ มาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์ที่ ๒ เคยเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยและมีความสนิทสนมคุ้นเคยกัน แม้โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ ไปจับกุมจำเลย จำเลยก็ทราบดีว่าเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ป. โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ ต้องให้ความร่วมมือตามหน้าที่เท่านั้น โจทก์ที่ ๒ ก็ยังให้ความกรุณาแก่จำเลยโดยแนะนำให้จำเลยให้การปฏิเสธไว้ก่อนทั้งที่จำเลยถูกจับได้พร้อมธนบัตรของกลางและเจ้าหน้าที่ ป.ป.ป. ได้อัดเสียงของจำเลยไว้ด้วย จำเลยจึงไม่น่าจะมีเจตนาฆ่าโจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ โดยยิงให้ถึงแก่ความตาย ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อจำเลยยิงโจทก์ที่ ๓ ล้มลงแล้ว โจทก์ที่ ๓ ไม่อยู่ในฐานะต่อสู้กับจำเลย จำเลยมีโอกาสจะยิงโจทก์ที่ ๓ อีกเป็นเวลานาน แต่จำเลยก็หาได้ยิงโจทก์ที่ ๓ อีกไม่ แม้การที่จำเลยยิงโจทก์ที่ ๓ ถูกที่ต้นคอใกล้เคียงกับอวัยวะสำคัญเช่นหัวใจ ก็ยังไม่อาจถือว่าจำเลยจงใจยิงโจทก์ที่ ๓ ที่อวัยวะสำคัญ เพราะเป็นการยิงในขณะที่มีการยื้อแย่งกัน จำเลยมิได้มีโอกาสเลือกยิง จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยยิงโดยมีเจตนาฆ่า ส่วนที่จำเลยได้บอกโจทก์ที่ ๒ ว่าโจทก์ที่ ๓ ถูกยิงที่ขั้วหัวใจนั้นก็น่าเชื่อดังที่จำเลยเบิกความว่าเป็นเรื่องที่จำเลยหลอกโจทก์ที่ ๒ ในการต่อรองให้โจทก์ที่ ๒ ยอมให้กระสุนปืนและรถยนต์แก่จำเลย เพื่อจำเลยจะได้หลบหนีเท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยเชื่อว่าโจทก์ที่ ๓ ใกล้จะตายแล้วจำเลยจึงไม่ยิงอีกแต่อย่างใดส่วนที่จำเลยยิงโจทก์ที่ ๒ นั้นก็ปรากฏว่าขณะยิงจำเลยอยู่ใกล้กับโจทก์ที่ ๒ และมีโอกาสจะเลือกยิงโจทก์ที่ ๒ ตรงไหนก็ได้ แต่จำเลยกลับยิงที่ขาของโจทก์ที่ ๒ หากจำเลยมีเจตนาจะฆ่าโจทก์ที่ ๒ จำเลยคงยิงที่อวัยวะที่สำคัญกว่านี้ และหลังจากนั้นจำเลยก็ไม่ได้ยิงโจทก์ที่ ๒ อีกเช่นกัน พฤติการณ์แห่งคดีน่าเชื่อว่าจำเลยยิงโจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ เพื่อให้พ้นจากการถูกจับกุมหรือเพื่อสะดวกแก่การหลบหนีเท่านั้นเอง จำเลยมิได้มีเจตนาฆ่าโจทก์ที่ ๒ โจทก์ที่ ๓
ในปัญหาที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานใดศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยนอกจากจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๐ วรรคสาม และมาตรา ๓๐๙ ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้ว จำเลยยังมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายโจทก์ที่ ๒ และโจทก์ที่ ๓ เป็น ๒ กระทงอีกด้วย ตามที่โจทก์นำสืบไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ ๒ ได้รับอันตรายแก่กายสาหัสต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า ๒๐ วัน หรือประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า ๒๐ วัน ดังที่โจทก์กล่าวในฟ้อง จำเลยจึงมีความผิดสำหรับการยิงโจทก์ที่ ๒ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๖ กระทงหนึ่ง ส่วนความผิดสำหรับการยิงโจทก์ที่ ๓ นั้น โจทก์นำสืบว่าโจทก์ที่ ๓ ต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ๑๒ วัน แล้วไปรักษาตัวต่อที่บ้านอีก โจทก์ที่ ๓ ต้องหยุดทำงานเกือบ ๑ เดือน แพทย์ผู้ทำการตรวจบาดแผลของโจทก์ที่ ๓ ได้ให้ความเห็นว่าบาดแผลหายได้ภายใน ๓๐ วัน จึงฟังได้ว่าโจทก์ที่ ๓ ได้รับบาดเจ็บจากการยิงของจำเลยจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า ๒๐ วัน จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๘ อีกกระทงหนึ่ง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๖ ให้จำคุก ๓ ปี กระทงหนึ่ง และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๘ ให้จำคุก ๑๐ ปี อีกกระทงหนึ่งรวมให้จำคุกมีกำหนด ๑๓ ปี ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๐ วรรคสาม และมาตรา ๓๐๙ นั้น เมื่อลงโทษจำเลยตามมาตรา ๒๙๘ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดแล้ว จึงไม่ต้องลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายดังกล่าวอีกนอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์