คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1917/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 กระทำไปในทางการที่จ้าง อันเป็นผลให้จำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถคันเกิดเหตุ ต้องรับผิดร่วมในการละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นดังกล่าวเลย การรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น จึงเป็นการวินิจฉัยโดยไม่มีถ้อยคำสำนวนสนับสนุน เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 4 เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีที่มีทุนทรัพย์ไม่เกินสองหมื่นบาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์และยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 4 จึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ขับรถโดยประมาทแซงชนเฉี่ยวท้ายรถคันหน้า ทำให้รถคันหน้าแฉลบไปชนเสาไฟฟ้าของโจทก์บนเกาะกลางถนน เสียหายคิดเป็นเงิน ๑๕,๙๕๗ บาท จำเลยที่ ๑ ทำการละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นนายจ้าง จำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าของรถคันเกิดเหตุให้จำเลยที่ ๒ เช่าซื้อไปจำเลยที่ ๔ เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุน จำเลยทั้งสี่ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๑๕,๙๕๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ มีชื่อเป็นเจ้าของในทะเบียนรถคันเกิดเหตุจริง แต่ได้โอนกรรมสิทธิ์ให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เชสแมนแฮตตัน จำกัด ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุแล้ว จำเลยที่ ๓ ไม่เคยให้จำเลยที่ ๒ เช่าซื้อรถคันดังกล่าว
จำเลยที่ ๔ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ มิได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ ๔ ก็ไม่ต้องรับผิด เพราะจำเลยที่ ๔ มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เท่านั้น ตามกรมธรรม์ประกันภัยจำเลยที่ ๔ ต้องรับผิดครั้งละไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และได้ถูกเจ้าของรถคันหน้าฟ้องเรียกค่าเสียหายไว้แล้ว ๙๐,๗๓๗.๕๐ บาท คนขับรถคันหน้าประมาทฝ่ายเดียว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ๑๕,๙๕๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ ๔ รับผิดรวมกับหนี้ของเจ้าหนี้รายอื่นไม่เกินวงเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓
จำเลยที่ ๒ ที่ ๔ อุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดโดยไม่มีถ้อยคำสำนวนสนับสนุน
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างและขณะเกิดเหตุได้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ที่ ๔ อุทธรณ์คัดค้านการใช้ดุลพินิจของศาลชั้นต้น เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ที่ ๔
จำเลยที่ ๒ ที่ ๔ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้มีทุนทรัพย์ไม่เกินสองหมื่นบาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๔ ปัญหาวินิจฉัยมีว่าศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงโดยมีถ้อยคำสำนวนสนับสนุนหรือไม่ ซึ่งปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ได้พิเคราะห์คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แล้ว ไม่ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ได้หยิบยกพยานหลักฐานข้อใด อันเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นยกขึ้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๒ เป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ได้ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างตามฟ้อง อันเป็นผลให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ต้องรับผิดร่วมในการละเมิดของจำเลยที่ ๑ ต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ที่ ๔ เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ที่ ๔ จึงเป็นการไม่ชอบ แต่ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยในปัญหานี้เสียเองโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก เห็นว่าที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างและกระทำการตามทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ นั้นโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อนี้เลย การรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นจึงเป็นการวินิจฉัยโดยไม่มีถ้อยคำสำนวนสนับสนุนแต่อย่างใด
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ในปัญหาข้ออื่นต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้รวมสั่งในคำพิพากษาใหม่

Share