คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1207/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ซิลิโคนบริสุทธิ์ที่โจทก์นำเข้ามาใช้ประโยชน์ทั้งสองทางพร้อมกันคือใช้ได้ทั้งเป็นวัตถุดิบและวัตถุสำเร็จรูป
การพิจารณาว่าซิลิโคนที่นำเข้าใช้เป็นวัตถุดิบหรือไม่ให้ดู ‘ชนิด’ ของซิลิโคน หาใช่ดูการใช้ซิลิโคนจำนวนนั้นจริง ๆ ไม่ เมื่อซิลิโคนที่โจทก์นำเข้าเป็นได้ทั้งชนิดที่ใช้เป็นวัตถุดิบตามพิกัดประเภทที่ 39.01 ก. และวัตถุสำเร็จรูปอันเป็นชนิดอื่น ๆ ตามพิกัดประเภทที่ 39.01 ข. จึงเป็นกรณีของชนิดหนึ่งอาจจัดเข้าได้ 2 ประเภทหรือมากกว่านั้น ต้องอาศัยหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร ตามภาค 1 ท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 บังคับ กรณีนี้มิใช่ประเภทหนึ่งระบุลักษณะของของไว้ชัดแจ้ง และอีกประเภทหนึ่งระบุไว้อย่างกว้าง ๆ ตามหลักเกณฑ์ข้อ 3 (ก) ทั้งมิใช่กรณีของซึ่งผสมหรือประกอบด้วยวัตถุต่างชนิดกันตามหลักเกณฑ์ข้อ 3 (ข) จึงต้องเข้าประเภทซึ่งมีอัตราอากรสูงที่สุด คือประเภทที่ 39.01ข. ตามหลักเกณฑ์ข้อ 3 (ค)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้สั่งซื้อและนำสารเคมีซิลิโคนจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร จำนวน ๑๕ เมตริกตัน เพื่อผสมและประกอบในการผลิตสินค้า โดยโจทก์ได้แสดงรายการสินค้าในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้ายื่นชำระภาษีอากรต่อพนักงานของจำเลยในพิกัดประเภทที่ ๓๙.๐๑ ก. อัตราร้อยละ ๔๐ ภาษีการค้าร้อยละ ๑.๕ ตามบัญชีแนบท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๐๓ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว แต่พนักงานของจำเลยไม่ยอม โดยกำหนดให้โจทก์แก้ไขและชำระภาษีอากรในพิกัดประเภทที่ ๓๙.๐๑ ข. อัตราร้อยละ ๖๐ ภาษีการค้าร้อยละ๗ ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้องและขัดต่อหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค ๑ ข้อ ๓ (ก) ท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๐๓ โจทก์ต้องปฏิบัติตามไปพลางก่อน โจทก์ได้ชำระเงินค่าภาษีอากรจากโจทก์เกินไป ของที่โจทก์นำเข้าเป็นสารเคมีซิลิโคนบริสุทธิ์เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า จึงต้องเสียภาษีอากรในพิกัดประเภทที่ ๓๙.๐๑ ก. ขอให้ศาลพิพากษาว่าสินค้าที่โจทก์นำเข้ามาตามฟ้องจัดอยู่ในพิกัดประเภทที่ ๓๙.๐๑ ก. ตามบัญชีแนบท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรและให้จำเลยคืนเงินที่เรียกเก็บไว้เกินไปให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า สินค้าที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักรตามฟ้องเป็นซิลิโคนฟลูอิดหรือซิลิโคนออยล์ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้สองทางพร้อมกัน คือใช้ได้ทั้งเป็นวัตถุดิบสำหรับนำมาผสมให้เป็นของสำเร็จรูปกับเป็นวัตถุหรือเป็นของสำเร็จรูปแล้วที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที จึงอาจจัดเข้าได้ทั้งในพิกัดประเภทที่ ๓๙.๐๑ ก. และ ๓๙.๐๑ ข. ของตอนที่ ๓๙ ท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๐๓ การคิดอัตราศุลกากรและอัตราภาษีการค้าจึงต้องจัดเข้าประเภทพิกัดที่ ๓๙.๐๑ ข. ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค ๑ ข้อ ๓ (ค) ท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๐๓ ที่ให้จัดเข้าในประเภทซึ่งมีอัตราอากรสูงที่สุด ในเมื่อเห็นได้ว่าของชนิดใดอาจจัดเข้าได้สองประเภทหรือมากกว่านั้น ของที่โจทก์นำเข้ามิใช่เป็นกรณีที่ประเภทหนึ่งระบุลักษณะของของไว้โดยชัดแจ้งและอีกประเภทหนึ่งระบุไว้อย่างกว้าง ๆ ตามข้อ ๓ (ก) แห่งหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรแต่อย่างใด จำเลยเรียกเก็บภาษีอากรจากโจทก์ถูกต้องแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ซิลิโคนบริสุทธิ์ที่โจทก์นำเข้ามาใช้ประโยชน์ทั้งสองทางพร้อมกัน คือใช้ได้ทั้งเป็นวัตถุดิบและวัตถุสำเร็จรูปตามบัญชีพิกัดอัตราอากรขาเข้าตามภาค ๒ ท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราอากรศุลกากร พ.ศ. ๒๕๐๓ พิกัดประเภทที่ ๓๙.๐๑กำหนดไว้ความว่า ซิลิโคน ก. ชนิดที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับเอามาหล่อหลอม อัด หรือผสมเป็นของสำเร็จรูป ฯลฯ อัตราอากรร้อยละ ๔๐ ข. อื่น ๆ อัตราอากรร้อยละ ๖๐ การพิจารณาว่าซิลิโคนที่นำเข้าใช้เป็นวัตถุดิบหรือไม่ ให้ดู ‘ชนิด’ ของซิลิโคน หาใช่ดูการใช้ซิลิโคนจำนวนนั้นจริง ๆ ไม่ เมื่อซิลิโคนที่โจทก์นำเข้าเป็นได้ทั้งชนิดที่ใช้เป็นวัตถุดิบตามพิกัดประเภทที่ ๓๙.๐๑ ก. และวัตถุสำเร็จรูปอันเป็นชนิดอื่น ๆ ตามพิกัดประเภทที่ ๓๙.๐๑ ข. จึงเป็นกรณีของชนิดหนึ่งอาจจัดเข้าได้ ๒ ประเภทหรือมากกว่านั้น ต้องอาศัยหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร ตามภาค ๑ ท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๐๓ บังคับ กรณีนี้มิใช่ประเภทหนึ่งระบุลักษณะของของไว้ชัดแจ้ง และอีกประเภทหนึ่งระบุไว้อย่างกว้าง ๆ ตามหลักเกณฑ์ข้อ ๓ (ก) ทั้งมิใช่กรณีของซึ่งผสมหรือประกอบด้วยวัตถุต่างชนิดกันตามหลักเกณฑ์ข้อ ๓ (ข) จึงต้องจัดเข้าประเภทซึ่งมีอัตราอากรสูงที่สุด คือประเภทที่ ๓๙.๐๑ ข. ตามหลักเกณฑ์ข้อ ๓ (ค) จำเลยเรียกเก็บอากรในอัตราร้อยละ ๖๐ ถูกต้องแล้ว
พิพากษายืน.

Share