คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 354/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์รับราชการเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างชั่วคราวในตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาล จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 รับราชการเป็นนายแพทย์ประจำโรงพยาบาลโดยมีโจทก์เป็นผู้บังคับบัญชา จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ได้ทำหนังสือร้องเรียนโจทก์ต่อผู้อำนวยการกองโรงพยาบาลภูมิภาคพร้อมส่งเทปบันทึกเสียงซึ่งจำเลยที่ 1 พูดยืนยันตามหนังสือร้องเรียนว่าโจทก์รับสินบนในการรับตนเข้าทำงานบกพร่องเกี่ยวกับศีลธรรมอันดีในกรณีชู้สาว และกระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ทางวินัย จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 แจ้งต่อคณะกรรมการทำนองเดียวกับหนังสือร้องเรียน ต่อมาหนังสือพิมพ์ลงข่าวเกี่ยวกับโจทก์ เมื่อพฤติการณ์ที่จำเลยร้องเรียนจากฐานความจริงหรือเหตุการณ์ที่โจทก์ปฏิบัติอยู่ ทำให้จำเลยเข้าใจเช่นนั้นโดยจำเลยเข้าใจว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบอาจทำให้ราชการเสียหายและเป็นผู้บกพร่องเกี่ยวกับศีลธรรมอันดีในกรณีชู้สาวซึ่งผิดวินัยข้าราชการ แล้วกระทำการดังกล่าวลงไป จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งเจ็ดได้กระทำการโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จึงได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1) (3) ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทและไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จด้วย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยเรียกจำเลยในคดีแรกเป็นจำเลยที่ ๑ และเรียกจำเลยทั้งหกในคดีหลังเป็นจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๗
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นนายแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอินทร์บุรีจังหวัดสิงห์บุรี จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างชั่วคราวในตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาล จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๗ รับราชการเป็นนายแพทย์ จำเลยทั้งเจ็ดประจำอยู่ที่โรงพยาบาลอินทร์บุรีจำเลยทั้งเจ็ดได้ร่วมกันหมิ่นประมาทโจทก์และแจ้งความเท็จโดยกล่าวหาว่าโจทก์รับเงินสินบน ประพฤติตนไม่ชอบและบกพร่องเกี่ยวกับศีลธรรมอันดีในกรณีชู้สาว เมื่อกระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ จำเลยได้นำเอาข้อความหมิ่นประมาทไปแจ้งต่อนายแพทย์วิเชียร เทศชูกลิ่นและคณะกรรมการสอบสวนทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗, ๓๒๖, ๓๒๘, ๙๐, ๙๑
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วคดีมีมูลให้ประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา
จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยทั้งเจ็ดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความจริงโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมเข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙(๑) ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทส่วนเรื่องชู้สาวจำเลยพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริงและเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ได้รับยกเว้นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๓๓๐ และการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อความที่จำเลยที่ ๑ พูดในเทปบันทึกเสียง จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๗ มีหนังสือร้องเรียน และที่จำเลยแจ้งข้อความนั้นต่อเจ้าพนักงานเป็นความเท็จซึ่งการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นความผิดนั้น พิเคราะห์แล้วเกี่ยวกับเรื่องรับสินบนของโจทก์ในการรับสมัครเข้าทำงานในโรงพยาบาลอินทร์บุรี ฝ่ายจำเลยนอกจากจำเลยที่ ๑ และนางลูกอินทร์ มารดาจำเลยที่ ๑ จะเบิกความตรงกันว่าก่อนจำเลยที่ ๑ เข้าทำงานในโรงพยาบาลอินทร์บุรีได้เสียเงินให้โจทก์ ๑๒,๐๐๐ บาทโดยนายอู๋ จูสี คนชอบพอกับโจทก์เป็นผู้ติดต่อเรียกร้อง และจำเลยที่ ๑ เบิกความต่อไปว่าเมื่อทำงานได้ ๓ ปี จำเลยที่ ๑ ต้องการไปเรียนผู้ช่วยพยาบาลต่อที่จังหวัดสระบุรีแต่ต้องให้เงินโจทก์ ๒,๐๐๐ บาท จึงขอยืมเงินจำเลยที่ ๓ เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๓ ทราบและเกิดการร้องเรียนเรื่องนี้ขึ้น โดยมีจำเลยที่ ๓ เบิกความรับรองตามข้อนี้แล้ว ยังมีนายพรชัย และนางศรีจันทร์ แสงวิไลสาคร สามีภริยาเบิกความตรงกันว่าในการบรรจุเป็นช่างไฟฟ้าของนายพรชัยได้เสียเงินให้โจทก์ ๕,๐๐๐ บาท สอดคล้องต้องกัน โดยมีนางสาวถาวร พูลเพิ่ม มาเบิกความรับรองว่า จำเลยที่ ๑ และนายพรชัยได้เล่าเรื่องดังกล่าวให้ฟังจริง จำเลยที่ ๑ นายพรชัย และนางสาวถาวรเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ ๑ และนายพรชัยเป็นผู้ที่โจทก์รับเข้าทำงานไม่มีสาเหตุที่จะเบิกความกลั่นแกล้งหรือปรักปรำโจทก์ จึงมีน้ำหนักที่น่าเชื่อถือแม้จำเลยที่ ๑ นายเสนาะ นางลูกอินทร์ บิดามารดาจำเลยที่ ๑ จะบันทึกรับรองตามเอกสารหมาย จ.๒๓ ถึง จ.๒๖ ว่า ในการเข้าทำงานของจำเลยที่ ๑ ไม่ได้เสียเงินให้แก่ผู้ใดก็ตาม ก็น่าจะเป็นเพราะความกลัวจำเลยที่ ๑ ถูกไล่ออกจากงานดังที่นางลูกอินทร์เบิกความมากกว่า ไม่ทำให้น้ำหนักของพยานจำเลยเสียไป ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยนำสืบ ส่วนเรื่องชู้สาว จำเลยมีนางมาลี ช่างประดับ มาเบิกความว่าในระหว่างที่พยานไปเรียนผู้ช่วยพยาบาลที่จังหวัดสระบุรีและกลับมาปฏิบัติงานภาคปฏิบัติที่โรงพยาบาลอินทร์บุรี โจทก์ให้ดูบัตรสนเท่ห์เรื่องพยานถูกร้องเรียนและนัดพยานไปโรงแรมรักพงศ์ จึงถูกโจทก์ปลุกปล้ำ เมื่อพยานไม่ยินยอมโจทก์ได้ขอตรวจภายในครั้งที่สอง ได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ขณะนั้นนางมาลี อายุเพียง ๑๘ ปี เป็นนางสาวย่อมได้รับความเสื่อมเสียและอับอายมากถ้าเรื่องได้เปิดเผยขึ้น แต่กลับได้ความจากจำเลยที่ ๒ และที่ ๗ ว่านางมาลีเคยเล่าให้ฟัง จึงผิดปกติวิสัยหากไม่เป็นความจริงประกอบกับโจทก์ก็ยอมรับว่าได้ตรวจภายในนางมาลีทั้งสองครั้งจริง แต่อ้างว่าตรวจเพื่อหาเชื้อกามโรคและเพื่อดูพรหมจารีย์ซึ่งทางการแพทย์ไม่ได้รับรอง พฤติการณ์เจือสมกันเชื่อได้ว่านางมาลีเบิกความตามความเป็นจริง เพราะแม้นางกิมไซ แก้วพระเกียรติ พยานโจทก์ก็ยอมรับว่า เคยทราบข่าวเรื่องโจทก์มีความสัมพันธ์กับผู้อื่นในทางชู้สาวเหมือนกัน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์มีความประพฤติในเรื่องดังกล่าวเป็นไปทำนองหนังสือร้องเรียนของจำเลย สำหรับเรื่องนำรถยนต์ของโรงพยาบาลไปใช้ส่วนตัว จำเลยมีนายศุภชัย ปลอดยัง คนขับรถของโรงพยาบาลอินทร์บุรีมาเบิกความว่าโจทก์ให้พยานขับรถของโรงพยาบาลพาโจทก์และครอบครัวไปเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์และนครสวรรค์ และโจทก์เคยเอารถกระบะไปใช้ส่วนตัว สอดคล้องต้องกันกับคำเบิกความของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๗ และรับกับการไม่พ่นสีตรารถโรงพยาบาลตามที่จำเลยที่ ๒ เคยทักท้วงโจทก์ ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าเป็นความจริงดังจำเลยนำสืบ ส่วนเรื่องเงินอุดหนุนโรงพยาบาลจากทุนพรหมวิหารจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท เพื่อซื้อเครื่องมือแพทย์เงินบริจาคจากนายกุ้ยฮะ แซ่อึ้ง จำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท เพื่อซื้อเครื่องดูดเสมหะและเงินบริจาคของนางเป้า ปาลวัฒน์วิชัย เพื่อซ่อมแซมหลังคาซุ้มพระนั้นเห็นว่าแม้จะไม่มีการทุจริตในเงินดังกล่าว แต่โจทก์มิได้นำเข้าบัญชีเงินบำรุงโรงพยาบาลกลับไปฝากที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาสิงห์บุรี ในชื่อของโจทก์ ซึ่งผิดระเบียบของทางราชการ และเพิ่งซื้อเครื่องดูดเสมหะในภายหลัง กับคืนเงินของนางเป้าแก่นางสาวนงเยาว์ภายหลังที่ถูกจำเลยมีหนังสือร้องเรียนแล้ว พฤติการณ์จึงเจือสมการร้องเรียนของจำเลย นอกจากนี้เกี่ยวกับเรื่องซื้ออาหารในโรงครัวของโรงพยาบาล เรื่องการสร้างบ้านพักผู้ช่วยพยาบาล เรื่องโจทก์เป็นหุ้นส่วนกับนายแพทย์ ช.ศรีพิชย์ เพ็ชญไพศิษฏ์ ตั้งโรงพยาบาลศรีอินทรา ก็ได้ความว่านางสมทรง งามชาติ หัวหน้าโรงครัว ผู้ปลอมใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมันหมู เป็นน้องสาวของโจทก์มีความรู้เพียงจบ ม.ศ.๓ ไม่มีความรู้ทางโภชนาการที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว นายสมเกียรติผู้ควบคุมการก่อสร้างบ้านพักผู้ช่วยพยาบาลเป็นญาติกับโจทก์ ภายหลังตรวจรับงานแล้วสิ่งก่อสร้างดังกล่าวชำรุดเสียหายโจทก์ก็หาได้ดำเนินการเพื่อให้ผู้รับเหมามาทำการซ่อมแซมแต่อย่างใดไม่ และโจทก์เป็นที่ปรึกษาของโรงพยาบาลศรีอินทรา ต้องไปโรงพยาบาลดังกล่าวบ่อย ๆ ประกอบกับจำเลยมีภาพถ่ายหมาย จ.๙ จ.๑๒ แสดงว่าเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลศรีอินทราไปทำงานที่โรงพยาบาลอินทร์บุรี ซึ่งล้วนแต่เป็นเหตุผลแสดงว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบตามหนังสือร้องเรียนของจำเลยทั้งสิ้น พยานโจทก์เบิกความลอย ๆ ขัดต่อเหตุผลมีน้ำหนักสู้พยานจำเลยไม่ได้ พฤติการณ์ที่จำเลยทั้งเจ็ดร้องเรียนจากฐานความจริงหรือเหตุการณ์ที่โจทก์ปฏิบัติอยู่ทำให้จำเลยเข้าใจเช่นนั้น โดยจำเลยเข้าใจว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบอาจทำให้ราชการเสียหาย และเป็นผู้บกร่องเกี่ยวกับศีลธรรมอันดีในกรณีชู้สาวซึ่งผิดวินัยข้าราชการแล้วกระทำการดังกล่าวลงไป จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งเจ็ดได้กระทำการโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จึงได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙(๑) (๓) ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท และไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จด้วย ลำพังเพียงจำเลยไม่นำเรื่องให้ที่ประชุมโรงพยาบาลพิจารณา แต่นำไปร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาเลย ก็หาใช่เหตุผลแสดงว่าจำเลยนำความเท็จมาร้องเรียน โดยมีเจตนาหมิ่นประมาทดังโจทก์ฎีกาไม่ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share