คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 79/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากัน ต่างประสงค์จะแบ่งที่ดินสินสมรสซึ่งถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันอยู่ออกเป็นสัดส่วน ได้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินดังกล่าวส่วนใหญ่ในชื่อของโจทก์ผู้เดียวแล้วขายไปโดยจำเลยที่ 1 รู้เห็นด้วย ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินส่วนที่เหลือคือที่พิพาทในชื่อของจำเลยที่ 1 ผู้เดียวเช่นนี้ ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงแบ่งที่ดินทั้งแปลงดังกล่าวออกเป็นของแต่ละฝ่ายแล้ว ที่พิพาทจึงหมดสภาพจากการเป็นสินสมรสตกเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจขายที่พิพาทโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์เมื่อจำเลยที่ 1 ขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทและการจดทะเบียนซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องใจความว่า โจทก์และจำเลยที่ ๑ เป็นสามีภริยากันแต่แยกกันอยู่ โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน ส.ค.๑ เลขที่ ๕๑ เนื้อที่ ๕๗ ไร่ ซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ได้ยื่นคำขอรับรองการทำประโยชน์ (เฉพาะส่วน) จำนวนครึ่งหนึ่งของที่ดินดังกล่าวในที่สุดได้มีการรังวัดออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ ๑๖๐๑ ให้แก่จำเลยที่ ๑ ต่อมาจำเลยที่ ๑ โอนขายที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยที่ ๓ โดยบุคคลทั้งสองร่วมกันทำโดยไม่สุจริตทำให้โจทก์เสียเปรียบและมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นสามี ขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ ๑๖๐๑ และสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๓
จำเลยทั้งสามให้การทำนองเดียวกันว่า ที่ดินตาม ส.ค.๑ เลขที่ ๕๑ เป็นสินสมรส โจทก์ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวในนามของโจทก์ผู้เดียว พร้อมแบ่งขายให้แก่ผู้อื่นไปแล้วเนื้อที่ ๓๐ ไร่ ๓ งาน ๔๕ ตารางวา ที่เหลือ ๒๖ ไร่ ๒ งาน ๖๐ ตารางวา ให้เป็นของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินที่เหลือและทางราชการออกให้ เลขที่๑๖๐๑ คือที่พิพาทนี้ จำเลยที่ ๑ ได้ขายให้แก่จำเลยที่ ๓ โดยสุจริต ที่ดินดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวสามารถขายไปได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรสโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ และขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การทำนองเดียวกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๓
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และจำเลยร่วมฎีกา
ข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์และจำเลยที่ ๑ เป็นสามีภริยากัน ที่ดิน ส.ค.๑ เลขที่ ๕๑ เป็นสินสมรสโดยโจทก์ได้รับมรดกมาระหว่างที่เป็นสามีภริยากัน โจทก์ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และแบ่งขายที่ดินดังกล่าวตาม น.ส.๓ เลขที่ ๑๕๙๕ ถึง ๑๕๙๗ เนื้อที่ ๓๐ ไร่ ๓ งาน ๔๕ ตารางวาให้แก่ผู้มีชื่อไปแล้ว จำเลยที่ ๑ ได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินส่วนที่เหลือเนื้อที่ ๒๖ ไร่ ๒ งาน ๖๐ ตารางวา ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ ๑๖๐๑ คือที่พิพาทแล้วโอนขายให้แก่จำเลยที่ ๓
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้นายวรศักดิ์บุตรของโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ให้ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และแบ่งขายที่ดินตลอดจนให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ นายวรศักดิ์ได้ดำเนินการตามที่ได้รับมอบอำนาจมาจนเสร็จสิ้น รวมทั้งระบุเขตที่ดินส่วนของโจทก์และจำเลยที่ ๑ ให้ถ้อยคำยืนยันอาณาเขตที่พิพาทด้วย
วินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ไม่ปรากฏว่าโจทก์คัดค้านเป็นหนังสือในการที่จำเลยที่ ๑ ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ทั้ง ๆ ที่โจทก์ก็ทราบว่าที่จำเลยที่ ๑ กระทำเช่นนั้นก็เพื่อจะขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ ๓ พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นการสนับสนุนให้เห็นว่า ขณะที่โจทก์มอบอำนาจให้นายวรศักดิ์ขายที่ดินอันเป็นสินสมรสตามเอกสารหมาย จ.๓ ถึง จ.๕ โจทก์และจำเลยที่ ๑ ต่างประสงค์จะแบ่งที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์รวมออกเป็นสัดส่วน ในที่สุดก็ได้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในชื่อของโจทก์ผู้เดียวส่วนใหญ่แล้วขายไปทั้งหมดโดยจำเลยที่ ๑ รู้เห็นด้วย ต่อมาจำเลยที่ ๑ ก็ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่พิพาทในชื่อจำเลยที่ ๑ ผู้เดียวเช่นนี้ ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ได้ตกลงแบ่งที่ดินทั้งแปลงดังกล่าวออกเป็นของแต่ละฝ่ายแล้ว ที่พิพาทจึงหมดสภาพจากการเป็นสินสมรสตกเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ย่อมมีอำนาจขายที่พิพาทโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์
ปัญหาต่อไปกรณีที่ศาลอุทธรณ์ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่นั้น เมื่อฟังได้ว่าที่พิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ย่อมมีอำนาจขายไปได้โดยลำพังดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจที่จะขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์และการจดทะเบียนซื้อขายที่พิพาทรูปคดีไม่มีเหตุที่จะต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังขึ้น
พิพากษากลับให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ฎีกาเป็นพับ.

Share