คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3670/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทำสัญญาซื้อขายที่ดินจดทะเบียนไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว โจทก์จำเลยทำสัญญาต่อกันอีกฉบับหนึ่งว่า โจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินคืนได้ภายใน 10 ปี ดังนี้ สัญญาที่ทำต่อกันไม่ใช่สัญญาขายฝากหรือนิติกรรมอำพราง แต่ข้อกำหนดที่ให้ โจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินคืนจากจำเลยได้ภายใน 10 ปี เป็นคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง จึงมีผลผูกพันคู่กรณีใช้บังคับกันได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ตกลงขายฝากที่ดินแก่จำเลย แต่จดทะเบียนเป็นซื้อขายเสร็จเด็ดขาด จำเลยจึงทำสัญญาระบุให้โจทก์ซื้อที่ดินคืนได้ภายใน ๑๐ ปี โจทก์ขอซื้อคืนแล้วจำเลยปฏิเสธ ขอบังคับให้จำเลยขายที่ดินคืนแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ขายที่ดินเสร็จเด็ดขาดให้จำเลยแล้ว แต่โจทก์ได้ขอให้จำเลยทำสัญญาอีกฉบับหนึ่งเป็นนิติกรรมอำพรางเพื่อนำไปหลอกมารดาของโจทก์ว่ายังมีสิทธิซื้อคืนได้ สัญญานี้จึงไม่มีผลบังคับ ต้องบังคับตามสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยโอนขายที่ดินแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เอกสารหมาย จ.๑ มีรายละเอียดข้อตกลงไว้ครบถ้วน มีทั้งกำหนดเวลาที่ให้โจทก์ที่ ๒ ซื้อคืน ราคาที่จะซื้อคืน เท้าความถึงสัญญาซื้อขายที่ทำขึ้นก่อนคือเอกสารหมาย ล.๑ ไว้ด้วย บรรทัดบนของสัญญาใช้หัวข้อว่า “สัญญาประนีประนอม” สัญญาเอกสารหมาย จ.๑ จึงไม่ใช่นิติกรรมอำพราง และข้อกำหนดที่ให้โจทก์ที่ ๒ มีสิทธิซื้อที่ดินคืนจากจำเลยได้ภายใน ๑๐ ปีจึงมีผลสมบูรณ์ในตัวเอง เป็นคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕๖ วรรคสอง จึงมีผลผูกพันคู่กรณีใช้บังคับกันได้ ไม่ใช่สัญญาขายฝากตามกฎหมาย
พิพากษายืน.

Share