แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามระเบียบข้อบังคับของนายจ้างข้อ 11 มีโทษถึงขั้นเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย แต่ยังมีระเบียบข้อบังคับข้อ 10 ระบุความผิดประเภทอื่น ๆ และโทษขั้นพักงานไว้และข้อ 7 ระบุให้อำนาจนายจ้างที่จะใช้ดุลพินิจลงโทษลูกจ้างที่กระทำความผิดตามมาตรการการลงโทษมาตรการใดก็ได้ตั้งแต่ตักเตือนด้วยวาจา ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร การพักงานและให้ออกจากงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามความหนักเบาของความผิดและความเหมาะสมควร ดังนี้ เมื่อลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างขาดงานเป็นเวลา 3 วันทำงานโดยไม่มีเหตุสมควรมีโทษขั้นเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยซึ่งเป็นโทษขั้นสูงแต่นายจ้างไม่ประสงค์จะลงโทษดังกล่าวโดยขอลงโทษเพียงขั้นพักงานซึ่งเป็นคุณแก่ลูกจ้าง และเป็นการลงโทษที่ระบุไว้ในข้อบังคับนายจ้างย่อมขอให้ลงโทษดังกล่าวได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างของผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้างเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๒๘ ผู้คัดค้านถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก ๕ วันเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนซึ่งถือว่าเป็นการขาดงานเป็นเวลา ๓ วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุสมควร ตามระเบียบข้อบังคับของผู้ร้องมีโทษขั้นเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย แต่ผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างของผู้ร้องมานาน ผู้ร้องประสงค์จะลงโทษเพียงพักงานมีกำหนด ๗ วันโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าครองชีพขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญา
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่าระหว่างถูกกักขังตามคำพิพากษา ผู้คัดค้านได้แจ้งให้ผู้ร้องทราบแล้ว ถือไม่ได้ว่าเป็นการขาดงานโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามข้อบังคับและระเบียบของผู้ร้อง การกระทำของผู้คัดค้านมีโทษพักงานตลอดระยะเวลาแห่งการควบคุมโดยไม่จ่ายค่าจ้างและค่าครองชีพ ไม่เป็นความผิดมีโทษตามที่ผู้ร้องขอให้ลงโทษ จึงเป็นการลงโทษที่ขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๒๐ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โทษของผู้คัดค้านคือเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยสถานเดียว การที่ผู้ร้องขอลงโทษพักงานผู้คัดค้าน เป็นการขอลงโทษที่ขัดต่อข้อบังคับของผู้ร้อง ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยในปัญหาว่าผู้ร้องจะขอลงโทษเพียงขั้นพักงานได้หรือไม่ว่าข้อเท็จริงได้ความว่าผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างของผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้างเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๒๘ ผู้คัดค้านถูกฟ้องฐานร่วมกันเล่นการพนันศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษาลงโทษจำคุก ๕ วัน เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนผู้คัดค้านถูกกักขังรวม ๔ วัน ซึ่งเป็นการขาดงานเป็นเวลา ๓ วันติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร และเป็นความผิดตามข้อบังคับและระเบียบการลงโทษความผิดทางวินัยของผู้ร้อง ข้อ ๑๑ มีโทษขั้นเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย แต่ผู้ร้องลงโทษเพียงขั้นพักงานซึ่งเป็นโทษตามข้อ ๑๐ ที่กำหนดไว้สำหรับความผิดประเภทอื่น ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นว่า ข้อบังคับทั่วไปและระเบียบการลงโทษความผิดทางวินัยของผู้ร้องที่ระบุประเภทความผิดและโทษขั้นพักงานไว้ในข้อ ๑๐ และระบุความผิดอีกประเภทหนึ่งและโทษขั้นเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยไว้ในข้อ ๑๑ นั้น เป็นเพียงการแบ่งแยกประเภทความผิดตามความร้ายแรงและกำหนดอัตราโทษขั้นสูง ซึ่งลูกจ้างจะได้รับในกรณีที่กระทำความผิดในประเภทนั้นเท่านั้น ไม่ใช่ข้อกำหนดตายตัวว่าถ้าลูกจ้างกระทำความผิดซึ่งมีโทษสูงถึงขั้นใดแล้ว ผู้ร้องต้องลงโทษลูกจ้างในขั้นนั้น โดยเฉพาะข้อบังคับดังกล่าวข้อ ๗ ระบุไว้ว่า “ในกรณีที่พนักงานกระทำความผิด ทุจริต หรือฝ่าฝืนระเบียบคำสั่งหรือข้อบังคับของบริษัทฯ บริษัทฯ จะถือปฏิบัติตามมาตรฐานการลงโทษโดยคำนึงถึงความหนักเบาของความผิดที่พนักงานได้ก่อขึ้นด้วยความยุติธรรมเหมาะสมตามควรแก่กรณี โดยจะบังคับใช้มาตรการหนึ่งมาตรการใดก็ได้ตามขั้นตอนดังนี้ ขั้นที่หนึ่ง ตักเตือนด้วยวาจาขั้นที่สอง ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ขั้นที่สามตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรขั้นที่สี่ พักงาน ขั้นที่ห้า ให้ออกจากงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย” ดังนั้น ย่อมเห็นได้ว่าข้อบังคับได้ให้อำนาจผู้ร้องที่จะใช้ดุลพินิจเลือกลงโทษลูกจ้างตามมาตรการการลงโทษขั้นหนึ่งขั้นใดลดหลั่นลงมาได้ กรณีที่ลูกจ้างกระทำความผิดซึ่งมีโทษขั้นสูงทั้งนี้โดยให้ผู้ร้องคำนึงถึงความหนักเบาของความผิดและความเหมาะสมเป็นสำคัญไม่จำเป็นต้องลงโทษลูกจ้างตามมาตรการการลงโทษขั้นนั้น ๆ เสมอไป เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้คัดค้านกระทำความผิดซึ่งมีโทษสูงถึงขั้นเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยแต่ผู้ร้องไม่ประสงค์ลงโทษดังกล่าวโดยขอลงโทษเพียงขั้นพักงานซึ่งเป็นคุณแก่ลูกจ้างและเป็นมาตรการลงโทษอย่างหนึ่งที่ระบุไว้ในข้อบังคับ ผู้ร้องย่อมมีอำนาจกระทำได้
พิพากษากลับ อนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษพักงานผู้คัดค้านได้มีกำหนดไม่เกิน ๗ วันโดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างและค่าครองชีพ