คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2923/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ปลอมใบมอบอำนาจของโจทก์โอนขายที่ดินของโจทก์แก่จำเลยที่ 2 ขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรม ต่อมาโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้ร้องสอด (จำเลยที่ 1) ยื่นคำร้องอ้างว่า หนังสือมอบอำนาจเป็นหนังสืออันแท้จริงและผู้ร้องสอดได้ชำระเงินค่าที่ดินให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้จึงจำเป็นที่ผู้ร้องสอดจะต้องร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่ตามสัญญาจะซื้อขายที่ได้ทำไว้กับโจทก์ดังนี้ผู้ร้องสอดย่อมมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามเพื่อต่อสู้คดีกับโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ได้
ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามเพื่อต่อสู้คดีกับโจทก์ เป็นการเข้ามาในฐานะเป็นจำเลยย่อมไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาล

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๕๒๒๒ จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ หลอกลวงโจทก์ว่าจะทำเรื่องขายที่ดินของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ ๒ โจทก์หลงเชื่อได้มอบโฉนดให้จำเลยที่ ๑ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ทำหนังสือมอบอำนาจปลอมว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ ขายที่ดินแก่จำเลยที่ ๒ พนักงานเจ้าหน้าที่หลงเชื่อจึงแก้ทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่จำเลยที่ ๒ ขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ ๑
นายเหม มณีจักร ยื่นคำร้องสอดเข้ามาในคดี ชั้นแรกศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗ (๑) แต่กลับเพิกถอนคำสั่งเดิมแล้วแก้ไขคำสั่งใหม่เป็นให้เข้ามาเป็นคู่ความตามมาตรา ๕๗ (๒) ผู้ร้องสอดอุทธรณ์ แต่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอ้างว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ผู้ร้องสอดอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของผู้ร้องสอดไว้ดำเนินการต่อไป
ในระหว่างที่ผู้ร้องสอดอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวอยู่ ศาลชั้นต้นได้ดำเนินการสืบพยานต่อไป โดยถือว่าผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ ๒ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗ (๒)
ศาลชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมการโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๕๒๒๒
จำเลยร่วมและจำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นเป็นให้นายเหม มณีจักร ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗ (๑) และพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ผู้ร้องสอดอ้างว่าหนังสือมอบอำนาจเป็นหนังสืออันแท้จริงที่โจทก์มอบอำนาจให้ผู้ร้องสอดไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ และผู้ร้องสอดได้ชำระเงินค่าที่ดินพิพาทให้โจทก์รับไว้ครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์กลับมาฟ้องคดีอ้างว่าเป็นหนังสือมอบอำนาจปลอม และไม่เคยได้รับเงินค่าที่ดินพิพาทเลยเช่นนี้ เป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องสอดโดยตรง เพราะหากโจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้ผู้ร้องสอดไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทได้จริง ผู้ร้องสอดก็ย่อมมีอำนาจที่จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามหนัสือมอบอำนาจนั้นได้ เพื่อที่จะให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องสอดที่มีอยู่ผู้ร้องสอดจึงมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามเพื่อต่อสู้คดีกับโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗ (๑) ได้ และผู้ร้องสอดไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพราะเข้ามาในฐานะเป็นจำเลย
พิพากษายืน

Share