คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2644/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยปฏิบัติหน้าที่บกพร่องทำให้เกิดความเสียหาย ศ. ลูกจ้างฝ่ายบุคคลของจำเลยซึ่งมีหน้าที่ควบคุม ดูแลพนักงานและมีอำนาจเลิกจ้างลูกจ้างแทนจำเลยได้สอบถามโจทก์ โจทก์รับสารภาพ ศ. พอใจในความซื่อตรงของโจทก์ จึงยอมยกโทษให้และให้โจทก์ทำสัญญาจ้างใหม่โดยกล่าวว่า ‘ถ้าไม่เขียนใบสมัครใหม่ ก็ให้ออกจากงาน’ ดังนี้ เป็นเรื่อง ศ. ต้องการกลบเกลื่อนความผิดของโจทก์โดยให้ทำสัญญาจ้าง ใหม่คำกล่าวของ ศ. นั้นไม่ใช่คำสั่งเด็ดขาดที่มีเงื่อนไข ว่าถ้าไม่เขียนใบสมัครก็ให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้างไปในตัวหากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามก็เป็นเรื่องที่จะพิจารณาโทษหรือ มีคำสั่งเป็นกิจจะลักษณะอีกชั้นหนึ่ง พฤติการณ์ดังกล่าวถือ ไม่ได้ว่า ศ. บอกเลิกการจ้างโจทก์แล้ว
เมื่อวันที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้นโจทก์จำเลยยังมีความสัมพันธ์เป็นลูกจ้างนายจ้างกันอยู่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแม้จำเลยจะให้การรับว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ในวันต่อมาก็เป็นเรื่องนอกฟ้อง ศาลไม่อาจวินิจฉัยเหตุเลิกจ้างตามข้อต่อสู้ของจำเลยได้ ต้องยกฟ้องโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย กำหนดวันทำงานปกติตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์ แต่ต่อมาจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์และพนักงานอื่นหยุดทำงานในวันเสาร์โดยมิได้รับความยินยอมจากลูกจ้างและไม่จ่ายค่าจ้างประจำวันเสาร์รวม ๑๔ วัน ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่จ่ายค่าชดเชยกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างประจำวันเสาร์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๒๗ ในระหว่างทำงานโจทก์ละทิ้งหน้าที่โดยหลบไปซักเสื้อผ้า ครั้นวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๒๗ ในระหว่างทำงานโจทก์ละทิ้งหน้าที่อีกโดยหลบหนีไปหลับนอน ทำให้เส้นด้ายซึ่งอยู่ในหน้าที่ของโจทก์ขาดพันกับลูกกลิ้งจนได้รับความเสียหาย การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยได้เรียกโจทก์มาสอบถามเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๒๗ โจทก์ยอมรับสารภาพ จากนั้นนับแต่วันที่ ๑๕ กันยายน ถึงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๒๗ โจทก์ไม่มาทำงานตามปกติโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการละทิ้งหน้าที่ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุดังกล่าวจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ส่วนค่าจ้างประจำวันเสาร์นั้น ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่าเป็นวันเสาร์ใดบ้าง จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้ อย่างไรก็ตามจำเลยเคยสั่งให้โจทก์กับพนักงานอื่นหยุดงานในวันเสาร์บ้างเพราะเศรษฐกิจไม่ดีเมื่อโจทก์เป็นลูกจ้างรายวันไม่ได้ทำงานในวันเสาร์ให้จำเลย จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่นายศุภชัย เกียรติศักดิ์เจริญ ลูกจ้างฝ่ายบุคคลของจำเลยซึ่งมีอำนาจเลิกจ้างลูกจ้างแทนจำเลยเรียกโจทก์มาสอบถามในวันเกิดเหตุแล้วบอกโจทก์ให้ทำสัญญาจ้างใหม่โดยกล่าวว่า “ถ้าไม่เขียนใบสมัครใหม่ก็ให้ออกจากงาน” นั้น ถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๒๗ แล้ว ส่วนค่าจ้างประจำวันเสาร์นั้น ฟ้องข้อนี้ของโจทก์เคลือบคลุม พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลแรงงานกลางสั่งรับอุทธรณ์จำเลยเฉพาะปัญหาว่าการที่นายศุภชัยบอกกล่าวแก่โจทก์ในวันเกิดเหตุนั้นถือว่าเป็นการบอกเลิกการจ้างหรือไม่
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำประเภทรายวันของจำเลยมีหน้าที่ควบคุมดูแลเส้นด้ายที่ย้อม เมื่อวันที่๑๓ กันยายน ๒๕๒๗ โจทก์เข้าทำงานกะบ่ายซึ่งเริ่มตั้งแต่เวลา ๑๖ นาฬิกา ถึงเวลา ๒๔ นาฬิกา แต่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่นั้น โจทก์หลับ ๆ ตื่น ๆ ทำให้เส้นด้ายในเครื่องจักรขาดแล้วพันกับลูกกลิ้งได้รับความเสียหาย นายศุภชัย เกียรติศักดิ์เจริญ ลูกจ้างฝ่ายบุคคลของจำเลยซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลพนักงานและมีอำนาจเลิกจ้างโจทก์ได้ ได้เรียกโจทก์มาสอบถามกรณีที่กระทำผิด โจทก์ยอมรับสารภาพ นายศุภชัยพอใจในความซื่อตรงของโจทก์ จึงยอมยกโทษให้และให้โจทก์ทำสัญญาจ้างใหม่ โดยกล่าวว่า “ถ้าไม่เขียนใบสมัครก็ให้ออกจากงาน” วันรุ่งขึ้นโจทก์ไม่ไปทำงาน แต่ไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่แรงงานว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจา จากนั้นโจทก์ไม่ไปทำงานอีกเลย
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ถึงแม้นายศุภชัยจะมีอำนาจบอกเลิกการจ้างลูกจ้างของจำเลยก็ตาม แต่นายศุภชัยก็เป็นลูกจ้างคนหนึ่งของจำเลยซึ่งต้องปฏิบัติงานภายใต้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ไม่ใช่เป็นนายจ้างของโจทก์โดยตรงฉะนั้นกรณีที่จะถือว่านายศุภชัยบอกเลิกการจ้างโจทก์แล้วนั้น จึงต้องพิจารณาพฤติการณ์อื่น ๆ ประกอบด้วย มิใช่จะพิจารณาแต่เฉพาะจากคำบอกกล่าวประการเดียว ได้ความว่า เมื่อนายศุภชัยเรียกโจทก์มาสอบถามกรณีที่กระทำผิดโจทก์ยอมรับสารภาพ นายศุภชัยพอใจในความซื่อตรงของโจทก์จึงยอมยกโทษให้แสดงว่าแม้การกระทำของโจทก์จะเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย นายศุภชัยก็ไม่ประสงค์จะลงโทษหรือเลิกจ้างโจทก์ แต่เนื่องจากนายศุภชัยมีหน้าที่ควบคุมดูแลพนักงานซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยซึ่งจะละเว้นมิได้ นายศุภชัยจึงกลบเกลื่อนความผิดของโจทก์โดยให้โจทก์ทำสัญญาจ้างใหม่ ไม่ใช่เป็นการสั่งเลิกจ้างแล้วให้โจทก์เข้าเป็นลูกจ้างใหม่แต่อย่างใดส่วนข้อที่นายศุภชัยกล่าวแก่โจทก์ว่า “ถ้าไม่เขียนใบสมัครใหม่ ก็ให้ออกจากงาน”เป็นเพียงคำชี้แจงให้โจทก์ทราบถึงผลที่ตามมากรณีที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดไม่ใช่เป็นคำสั่งเด็ดขาดที่มีเงื่อนไขว่า ถ้าไม่เขียนใบสมัครใหม่ให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้างกันไปในตัว กรณีที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่จะพิจารณาโทษหรือมีคำสั่งเป็นกิจจะลักษณะอีกชั้นหนึ่ง การที่โจทก์ไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่แรงงานว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจานั้น เป็นความเข้าใจของโจทก์ฝ่ายเดียวพฤติการณ์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่านายศุภชัยบอกเลิกการจ้าง ในวันที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้น โจทก์จำเลยมีความสัมพันธ์เป็นลูกจ้างกันอยู่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แม้จำเลยจะให้การรับว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ในวันต่อมาจริง ก็เป็นเรื่องนอกฟ้อง ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยเหตุเลิกจ้างตามข้อต่อสู้ของจำเลยในคราวเดียวกันกับคดีนี้ คดีนี้จึงต้องยกฟ้องโจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ข้อหาเรื่องค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share