แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การฟ้องขอให้ผู้รับโอนโอนนา หรือที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทอื่นซึ่งมีพระราชกฤษฎีกาควบคุมให้แก่ผู้เช่าโดยอ้างว่าผู้ให้เช่าขายไปโดยมิได้แจ้งให้ผู้เช่าทราบนั้น ผู้เช่าจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายเสียก่อนกล่าวคือต้องมีการร้องขอต่อ คชก.ตำบลเพื่อวินิจฉัยก่อน หากไม่พอใจคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลก็ต้องอุทธรณ์ต่อไปยัง คชก.จังหวัดเมื่อ คชก.จังหวัดวินิจฉัยแล้วยังไม่เป็นที่พอใจ จึงจะมีสิทธิฟ้องคดีได้ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าบรรยายฟ้องแต่เพียงว่าโจทก์ขอซื้อจากจำเลย จำเลยไม่ยอมขายโจทก์ก็มาฟ้องทันทีโดยมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายบังคับไว้เช่นนี้ ชอบที่จะยกฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนขายที่ดินให้แก่โจทก์อ้างว่าเดิมโจทก์เช่าที่ดินจากนายโต๊ะ มรกตจินดา เพื่อทำไร่องุ่นและปลูกบ้านอยู่อาศัย ต่อมานายโต๊ะขายที่ดินดังกล่าวให้แก่นางศรีสุข ตนพิทักษ์ โจทก์เช่าที่กับนางศรีสุข ต่อมาเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๒๕ โจทก์ทราบว่านางศรีสุขขายที่ดินที่โจทก์เช่าให้จำเลยโดยมิได้แจ้งการขายพร้อมทั้งราคาที่จะขายและวิธีการชำระเงินให้โจทก์ทราบ โจทก์จึงมีสิทธิซื้อที่ดินแปลงนี้จำเลยได้
จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่เคยแสดงความจำนงขอซื้อที่ดินจากจำเลยและไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา ๕๔ วรรคสอง, ๕๖ และมาตรา ๕๗ ของพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นงดชี้สองสถานและงดสืบพยาน แล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในเบื้องแรกเห็นว่าที่ดินตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเช่ามาจากนางศรีสุขเจ้าของเดิมนั้นไม่ใช่า “นา” ตามความหมายของมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ ฉะนั้นหากจะมีการควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทอื่นใด นอกจากนา รัฐบาลจะต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเป็นพิเศษตามที่มาตรา ๖๓ ให้อำนาจไว้ แต่ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏว่ารัฐบาลตราพระราชกฤษฎีกาควบคุมการเช่าที่ดินประเภทที่โจทก์ฟ้องเมื่อใด และถึงหากจะมีพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวก็ไม่ปรากฏจากคำฟ้องว่า โจทก์ร้องขอต่อ คชก. ตำบลหรือที่เรียกว่า คณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลเพื่อวินิจฉัยให้จำเลยขายที่ดินให้แก่โจทก์เสียก่อนตามมาตรา ๕๔ วรรคสองของพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญซึ่งโจทก์จะต้องปฏิบัติ เพราะเมื่อ คชก.ตำบลวินิจฉัยเป็นประการใด ผู้ไม่พอใจมีสิทธิอุทธรณ์ต่อ คชก. จังหวัดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัย แต่ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ คชก.ตำบลมีคำวินิจฉัยมิฉะนั้นให้ถือว่าคำวินิจฉัยนั้นเป็นที่สุด และหากจะมีการอุทธรณ์ต่อไปยัง คชก. จังหวัดและโจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัด โจทก์จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำวินิจฉัย แต่จะต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ คชก.จังหวัดมีคำวินิจฉัย ทั้งนี้เป็นไปตามที่มาตรา ๕๖ และ ๕๗ ของกฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้ ซึ่งเมื่อพิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าเมื่อโจทก์ติดต่อขอซื้อจากจำเลยแล้ว จำเลยไม่ยอมขาย โจทก์ก็มาฟ้องคดีทันทีโดยไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายบังคับไว้ ฉะนั้นที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน.