แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างและมีหน้าที่ควบคุมรับผิดชอบการปฏิบัติงานของ จ. ละเลยไม่ตรวจสอบการปฏิบัติงานของ จ. อันเป็นการบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้ จ. ทุจริตเบียดบังรายได้ของโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการละเมิดนั้น โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายต่อศาลแรงงานได้ แต่เมื่อโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก โดยมิต้องคำนึงว่าโจทก์จะทราบจำนวนค่าเสียหายที่ถูกต้องแท้จริงแล้วหรือไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นอดีตพนักงานการรถไฟ มีหน้าที่ควบคุมตรวจสอบรวบรวมเงินรายได้นำส่งโจทก์ นายจำนวน เสมียนสินค้าเหมาคัน ซึ่งมีหน้าที่จ่ายสินค้าและเรียกเก็บเงินค่าภาระต่าง ๆ โดยผ่านการตรวจสอบของจำเลยทั้งสอง ได้ทุจริตต่อหน้าที่ในการเรียกเก็บเงินโดยเรียกเก็บเงินเต็มจำนวนแล้วนำส่งต่อโจทก์น้อยกว่าเงินที่ได้รับมา เพื่อเบียดบังไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัวหลายครั้ง โจทก์จึงไล่นายจำนวนออกจากงาน ต่อมาโจทก์ได้ตั้งกรรมการสอบสวนเพื่อหาผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ผลที่สุดที่ประชุมลงมติให้นายจำนวนเป็นผู้รับผิดชอบในหนี้ทั้งหมดก่อนหากยังขาดอยู่จำนวนเท่าใดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ มีค่าเสียหายจำนวนหนึ่งเรียกเก็บจากนายจำนวนไม่ได้ โจทก์ทวงถามจำเลย จำเลยที่ ๑ ยอมชำระให้ครึ่งหนึ่งแต่จำเลยที่ ๒ ไม่ยอมชำระขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดร่วมกับนายจำนวนคดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คณะกรรมการที่โจทก์ตั้งขึ้นได้รายงานผลการสอบสวนกรณีที่โจทก์ฟ้องนี้ครั้งแรงเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๑ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๒๓ ในรายงานผลการสอบสวนทั้งสองฉบับปรากฏว่านายจำนวนทุจริตต่อหน้าที่นำเงินที่ควรนำส่งต่อโจทก์ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว ฝ่ายการเดินรถมีคำสั่งไล่นายจำนวนออกจากงาน ต่อมาวันที่ ๒๘ ตุลาคม๒๕๒๓ มีการประชุมผู้อำนวยการฝ่ายและหัวหน้าสำนักงาน (ด้านปกครอง) ที่ประชุมลงมติให้ลดขั้นเงินเดือนจำเลยทั้งสอง ฐานมีพฤติการณ์ไม่เอาใจใส่ต่อหน้าที่เป็นเหตุให้เสียหายต่อโจทก์ ในการประชุมมีนายหิรัญ รองผู้ว่าการเป็นประธานที่ประชุมแทนผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยฝ่ายเดินรถจึงออกคำสั่งลงโทษจำเลยทั้งสอง คำสั่งนี้แสดงอย่างชัดเจนแล้วว่าในการประชุมเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๒๓ นั้นโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘ วรรคแรกแล้วที่โจทก์อ้างว่ายังไม่ทราบจำนวนค่าเสียหายที่ถูกต้องแท้จริงและตัวผู้รับผิดชอบนั้น เห็นว่าตัวผู้รับผิดชอบก็คือจำเลยทั้งสองที่โจทก์มีคำสั่งลงโทษนั่นเอง ส่วนใครจะรับผิดมากน้อยกว่ากันอย่างไร กฎหมายก็ได้ให้เวลาพิจารณาเป็นเวลาถึง ๑ ปี การที่โจทก์อ้างว่าไม่ทราบจำนวนค่าเสียหายที่ถูกต้องแท้จริงนั้น หาใช่เหตุที่จะอ้างว่ายังไม่รู้ตัวผู้รับผิดชอบไม่ มิฉะนั้นอายุความ ๑ ปีซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ก็จะขยายออกไปได้เรื่อย ๆ แล้วแต่ความล่าช้าในการดำเนินการของโจทก์ อย่างไรก็ดี ต่อมาวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๔ก่อนครบกำหนด ๑ ปี คณะกรรมการสอบสวนก็ได้รับรายงานผลการสอบสวนเพิ่มเติมให้โจทก์ทราบว่าเงินที่นายจำนวนยักยอกไปนั้น ให้เรียกเก็บจากนายจำนวนทั้งหมด ถ้าเรียกเก็บไม่ได้หรือได้ไม่หมดหักแล้วเหลือเท่าใดให้แบ่งเป็น ๔ ส่วนให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้ ๒ ส่วน ที่เหลืออีก ๒ ส่วนให้จำเลยที่ ๒ กับนายประเสริฐชดใช้คนละ ๑ ส่วน โจทก์ก็มิได้ดำเนินการประการใด ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาถึงวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ จึงได้ประชุมผู้อำนวยการฝ่าย ฯลฯ ลงมติให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินที่ขาดแก่โจทก์ จึงเป็นเรื่องความบกพร่องของโจทก์เองที่ไม่ขวนขวายใช้สิทธิเรียกร้องเสียภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายบังคับไว้ ดังนี้เมื่อโจทก์ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิด และผู้รู้ตัวจำเลยทั้งสองผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๒๓ แต่โจทก์เพิ่มฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่๑๗ มกราคม ๒๕๒๖ พ้นกำหนด ๑ ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว
พิพากษายืน