แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ ย่อมถือได้ว่าศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์ในข้อหารับของโจร เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์ กรณีต้องถือว่าข้อหาฐานรับของโจรได้ยุติไปแล้ว และเมื่อจำเลยอุทธรณ์ว่าไม่ได้กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ปัญหาวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์คงมีเพียงว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจรจึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา อย่างไรก็ตามย่อมถือได้ว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในข้อหาลักทรัพย์ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิฎีกาให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ได้ แต่ที่จำเลยฎีกาขอให้แก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยยกฟ้องโจทก์นั้น ย่อมมีความหมายว่าขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหารับของโจร ซึ่งข้อหานี้ยุติไปแล้วศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕, ๓๕๗
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ ให้ลงโทษจำคุก ๓ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๗ ให้ลงโทษจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษฐานลักทรัพย์
จำเลยฎีกาขอให้ฟ้องฐานรับของโจร
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อกฎหมายว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕, ๓๕๗ จำเลยให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ไม่มีความผิดฐานรับของโจรพิพากษาลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ ย่อมถือได้ว่าศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์ในข้อหารับของโจร เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์ กรณีย่อมถือว่าข้อหาความผิดฐานรับของโจรได้ยุติไปแล้ว – ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและเมื่อจำเลยอุทธรณ์ว่าไม่ได้กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ปัญหาวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์คงมีเพียงว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้นจึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา อย่างไรก็ตามย่อมถือได้ว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในข้อหาลักทรัพย์ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิฎีกาให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ได้ สำหรับศาลฎีกาของจำเลยที่ขอให้แก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยยกฟ้องโจทก์นั้น ย่อมมีความหมายว่า ขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหารับของโจร ซึ่งข้อหานี้ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยของจำเลยแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ แต่โทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดนั้นสูงเกินไป
พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ให้ลงโทษจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน