แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ต้องการกู้เงินจำเลย จำเลยไม่มีเงิน จึงตกลงจดทะเบียนซื้อขายที่พิพาทมี น.ส.3 ก. เพื่อจำเลยจะได้นำ น.ส.3 ก. ไปยืมเงินเพื่อนมาให้โจทก์กู้ หลังจากนั้นอีก 4 วัน โจทก์มารับเงินจากจำเลย แล้วโจทก์จำเลยทำสัญญาขายฝากที่พิพาทกันเอง ดังนี้ ถือได้ว่าการทำสัญญาซื้อขายที่พิพาทเพื่ออำพรางสัญญาขายฝาก สัญญาซื้อขายจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กันระหว่างคู่กรณีที่จะไม่ผูกพันกันตามเจตนาที่แสดงออกมานั้น ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 118 วรรคแรก ส่วนนิติกรรมขายฝากที่ถูกอำพรางไว้ เมื่อไม่ได้จดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 115 กรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ โจทก์ต้องคืนเงินให้จำเลยและจำเลยต้องคืนที่ดินให้โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เอาที่ดินตาม น.ส.๓ ก. ของโจทก์ทำสัญญาขายฝากไว้แก่จำเลยเพื่อยืมเงินจากจำเลย ๓๐,๐๐๐ บาท แต่เนื่องจากจำเลยอ่านหนังสือไม่ออกจึงไม่ทราบว่าสัญญาที่ทำเป็นสัญญาซื้อขายมิใช่สัญญาขายฝาก ในวันเดียวกันที่ทำสัญญาดังกล่าว จำเลยได้ทำสัญญากับโจทก์ว่าการทำสัญญาซื้อขายข้างต้นนั้นเป็นการขายฝากที่ดินมีกำหนด ๒ ปี สัญญาซื้อขายที่ดินจึงเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาขายฝาก ต่อมาโจทก์ขอไถ่ถอนที่ดินจากจำเลย จำเลยไม่ยอมให้ไถ่ถอนขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยรับเงินจากโจทก์และโอนที่พิพาทคืนโจทก์
จำเลยให้การว่า ความจริงโจทก์ประสงค์ขายที่พิพาทให้จำเลย สัญญาซื้อขายไม่ใช่นิติกรรมอำพราง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยรับเงินจากโจทก์และจดทะเบียนโอนที่พิพาทคืนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์จำเลยมิได้ตั้งใจผูกพันตามสัญญาซื้อขายเป็นเรื่องที่จำเลยต้องการให้โอนใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของ น.ส.๓ ก. ในที่พิพาท เพื่อจะได้นำ น.ส.๓ ก. ดังกล่าวไปยืมเงินจากเพื่อนมาให้โจทก์กู้ยืมเพื่อต้องการดอกเบี้ยเท่านั้น จึงถือได้ว่าโจทก์และจำเลยทำสัญญาซื้อขายที่พิพาทเพื่ออำพรางสัญญาขายฝาก สัญญาซื้อขายจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กันระหว่างคู่กรณีที่จะไม่ผูกพันกันตามเจตนาที่แสดงออก จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๘ วรรคแรก ส่วนนิติกรรมขายฝากที่ถูกอำพรางไว้โดยสัญญาซื้อขายนั้นต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยนิติกรรมอันที่ถูกอำพรางไว้ตามมาตรา ๑๑๘ วรรคสอง เมื่อการขายฝากไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๕ บังคับตามนิติกรรมที่ทำกันไว้ไม่ได้ คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม กรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ โจทก์ต้องคืนเงินให้จำเลย จำเลยต้องคืนที่พิพาทให้โจทก์
พิพากษายืน