คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1051/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ทั้งรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบและจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนได้รู้เท่าถึงความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ๒ แปลง ต่อมาได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ ๒ โจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ ๑ ตามคำพิพากษาคดีอยู่ในระหว่างการบังคับคดี จำเลยทั้งสองกระทำไปโดยรู้อยู่แล้วว่าทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ จึงขอให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกหนี้ธนาคารทหารไทย จำกัด โดยจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไว้ ต่อมาถูกบังคับจำนองยึดที่ดินขายทอดตลาดแต่ไม่มีผู้ซื้อ จำเลยที่ ๑ จึงขายให้จำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๒ นำเงินไปไถ่ถอนกับธนาคาร แล้วจำเลยที่ ๑ โอนขายให้แก่จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้รับเงินจากการซื้อขายนี้ การซื้อขายที่ดินนี้มิได้ทำให้โจทก์เสียเปรียบแต่อย่างใด จำเลยที่ ๒ กระทำไปโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ ๒ ได้ชำระหนี้แก่ธนาคารทหารไทย จำกัด เป็นการชำระหนี้แทนจำเลยที่ ๑ เพื่อไถ่ถอนที่ดินพิพาท จึงถือว่าจำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ ๑ เท่าจำนวนที่ได้ชำระแก่ธนาคารไป ซึ่งเมื่อธนาคารได้รับชำระหนี้แล้วได้ปลดจำนองให้แก่จำเลยที่ ๑ ที่ดินพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ ดังนั้นโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ ๑ ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิขอให้บังคับคดียึดที่ดินพิพาทเพื่อนำมาขายทอดตลาดชำระหนี้ของตนได้ และศาลได้ออกหมายบังคับคดีให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการยึดอายัดทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ แล้ว แต่ยังไม่ทันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะดำเนินการจำเลยที่ ๑ ก็จะจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ ๒ โจทก์ได้ไปคัดค้าน แต่จำเลยทั้งสองยืนยันให้เจ้าพนักงานจดทะเบียนให้ ฉะนั้น การที่จำเลยที่ ๑ ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ เพื่อชำระหนี้ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ และจำเลยที่ ๒ ผู้รับโอนก็ได้รู้เท่าถึงข้อความจริงโดยชัดแจ้งแล้วว่าเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๗ โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมนั้นเสียได้
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒

Share