แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การให้เช่าซื้อเป็นธุรกิจหนึ่งซึ่งรวมอยู่ในธุรกิจการค้าอื่น ๆ ตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดแม้โจทก์จะไม่มีสินค้าของตนเอง ก็อาจนำเอาสินค้ามาให้ลูกค้าทำการเช่าซื้อได้.โดยทำสัญญาเช่าซื้อกันไว้ล่วงหน้าให้มีผลบังคับกันได้ในเมื่อโจทก์เป็นเจ้าของทรัพย์แล้วมิใช่ว่าเมื่อไม่มีสินค้าของตนเองแล้วจะประกอบธุรกิจการค้าประเภทนี้ไม่ได้
จำเลยยอมสนองรับข้อเสนอของโจทก์ในอันที่จะผูกพันตนตามสัญญาเช่าซื้อซึ่งตนรู้ถึงวัตถุประสงค์ของการทำสัญญาดังกล่าวเป็นอย่างดี ทั้งยังได้ยอมรับเงื่อนไขต่าง ๆ รวมทั้งการชำระหนี้อันเป็นผลโดยตรงที่คู่กรณียอมรับนับถือและให้พึงใช้บังคับต่อกันตามข้อสัญญา ดังนี้สัญญาเช่าซื้อดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่ใช้บังคับแก่คู่กรณีได้หาใช่นิติกรรมอำพรางการกู้เงินไม่
ในเรื่องการเช่าซื้อ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อยังคงเป็นของผู้ให้เช่าซื้อเมื่อผู้เช่าซื้อประพฤติผิดสัญญาเจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ บรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะริบและกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 และเมื่อได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว ย่อมมีผลทำให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะเดิมของตนที่เป็นอยู่แต่ไม่มีผลกระทบกระทั่งสิทธิในอันที่จะเรียกร้องค่าเสียหายแก่กันดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 391
สัญญาเช่าซื้อกำหนดผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวดรายเดือนเริ่มงวดแรกภายในวันที่ 22 ตุลาคม 2521 งวดต่อไปภายในวันที่ 22 ของทุก ๆ เดือน จำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญานับแต่งวดที่ 5 ซึ่งครบกำหนดชำระในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2522 เป็นการผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กัน ถือว่าจำเลยผิดสัญญา โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าซื้อได้ตั้งแต่วันที่มีการผิดนัดเป็นต้นมา เมื่อจำเลยยังคงครอบครองและใช้ประโยชน์ในตัวทรัพย์นั้นมาโดยตลอด ย่อมทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ชอบที่จะเรียกค่าที่จำเลยได้ใช้ทรัพย์ของโจทก์มาตลอดระยะเวลาที่จำเลยครอบครองทรัพย์ ถือตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2522 เป็นต้นมาตามมาตรา 391 วรรคสาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ได้เช่าซื้อเครื่องจักรไปจากโจทก์ โดยผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเป็นรายเดือนรวม ๒๔ งวด จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วมจำเลยที่ ๑ ได้ชำระค่าเช่าซื้อเพียง ๔ งวดแล้วไม่ชำระอีก โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาและให้จำเลยส่งมอบเครื่องจักรคืน แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยทำให้โจทก์เสียหายขอให้พิพากษาบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ และส่งมอบเครื่องจักรคืนหรือใช้ราคา
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า เครื่องจักรตามฟ้องจำเลยซื้อจากผู้มีชื่อ โดยกู้เงินโจทก์ไปชำระแล้วมอบเครื่องจักรเป็นหลักประกัน โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายแล้วรวมกับต้นเงินให้จำเลยผ่อนชำระโดยทำเป็นสัญญาเช่าซื้ออำพรางข้อตกลงเรื่องการกู้โจทก์จึงนำสัญญาเช่าซื้อมาฟ้องขอบังคับไม่ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและไม่เคยบอกเลิกสัญญา จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและให้คืนหรือใช้ราคาเครื่องจักรเต็มราคา
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ ๑๙๖,๓๓๓ บาท กับให้ร่วมกันคืนเครื่องจักรแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา ๒๓๘,๐๐๐ บาท และให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายอีกเดือนละ ๑๑,๕๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะส่งมอบเครื่องจักรคืน
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ๑๔๕,๖๖๖.๖๖ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่า สัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.๑ เป็นนิติกรรมอำพรางการกู้เงินดังข้อต่อสู้ของจำเลยที่ ๑ หรือไม่ จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของสินค้าหรือจะมีสินค้าเพื่อจำหน่ายหรือให้ลูกค้าทำการเช่าซื้อโจทก์มีวัตถุประสงค์เพียงให้เงินกู้แก่ลูกค้าที่ขาดเงินเนื่องจากการซื้อสินค้าจากบุคคลอื่น แต่โจทก์ใช้วิธีการปฏิบัติต่อลูกค้าด้วยการให้ทำเป็นสัญญาเช่าซื้อไว้แก่โจทก์ดังเช่นในกรณีของจำเลยที่ ๑ จึงเท่ากับเป็นการทำนิติกรรมอำพรางนั้น เห็นว่าการให้เช่าซื้อเป็นธุรกิจหนึ่งซึ่งรวมอยู่ในธุรกิจการค้าอื่น ๆ ตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดดังที่ได้ระบุไว้ตามเอกสารหมาย จ.๒ แม้โจทก์จะไม่มีสินค้าของตนเอง แต่ก็อาจนำเอาสินค้ามาให้ลูกค้าทำการเช่าซื้อได้ โดยทำสัญญาเช่าซื้อกันไว้ล่วงหน้าให้มีผลบังคับกันได้ในเมื่อโจทก์เป็นเจ้าของทรัพย์แล้ว มิได้มีข้อจำกัดว่าเมื่อไม่มีสินค้าของตนเองแล้วจะประกอบธุรกิจการค้าประเภทนี้ไม่ได้ จำเลยที่ ๑ เองก็ยอมสนองรับข้อเสนอของโจทก์ในอันที่จะผูกพันตนตามสัญญาเช่าซื้อซึ่งตัวจำเลยเองก็รู้และทราบวัตถุประสงค์ของการทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์เป็นอย่างดี อีกทั้งยังได้ยอมรับเอาเงื่อนไขต่าง ๆ รวมทั้งการชำระหนี้อันเป็นผลโดยตรงที่คู่กรณียอมรับนับถือและให้พึงใช้บังคับต่อกันตามข้อสัญญาดังกล่าว ดังนี้สัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.๑ จึงเป็นนิติกรรมที่ใช้บังคับแก่คู่กรณีได้ หาใช่เป็นนิติกรรมอำพรางอย่างจำเลยที่ ๑ อ้างไม่ฎีกาจำเลยที่ ๑ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาว่า โจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากจำเลยได้เพียงใดหรือไม่ จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า ตามสัญญาเช่าซื้อให้สิทธิโจทก์เพียงที่จะเรียกร้องค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ หรือให้เข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าซื้อกลับคืน โจทก์ชอบที่จะเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งจะใช้สิทธิทั้งสองอย่างหาได้ไม่ อีกทั้งการที่จะใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์สินนั้นก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะเป็นการใช้สิทธินอกเหนือไปจากข้อตกลงตามสัญญาศาลฎีกาเห็นว่า ในเรื่องการเช่าซื้อ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อนั้นยังคงเป็นของผู้ให้เช่าซื้อหาได้โอนไปยังผู้เช่าซื้อทันทีไม่ เมื่อผู้เช่าซื้อประพฤติผิดสัญญาด้วยการผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้บรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน เจ้าของทรัพย์สินนั้นชอบที่จะริบและกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๔ และเมื่อได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้วย่อมมีผลทำให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะเดิมของตนที่เป็นอยู่ แต่ทั้งนี้ไม่มีผลกระทบกระทั่งถึงสิทธิในอันที่จะเรียกร้องค่าเสียหายแก่กันดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๓๙๑ วรรคแรกและวรรคสุดท้าย สำหรับกรณีของจำเลยที่ ๑ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญานับแต่งวดที่ ๕ ซึ่งครบกำหนดชำระในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒ เป็นต้นมาจนบัดนี้ เป็นการผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กัน ถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาโจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและกลับเข้าครอบครองเครื่องจักรอันเป็นทรัพย์สินที่เช่าซื้อกันนั้นได้ตั้งแต่วันที่มีการผิดนัดเป็นต้นมา แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ยังคงครอบครองและใช้ประโยชน์ในตัวทรัพย์นั้นมาโดยตลอด ย่อมทำให้โจทก์เสียหายที่ไม่อาจเข้าครอบครองและได้ใช้ประโยชน์แก่ตัวทรัพย์นั้นดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ชอบที่จะเรียกค่าที่จำเลยที่ ๑ ได้ใช้ทรัพย์ของโจทก์มาตลอดระยะเวลาที่จำเลยที่ ๑ ครอบครองทรัพย์ คือตั้งแต่วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๒๒ เป็นต้นมาเพื่อชดเชยเป็นค่าเสียหายได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๓๙๑ วรรคสาม
พิพากษายืน