คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3587/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การชี้สองสถานคือการกะประเด็นข้อพิพาทและกำหนดหน้าที่นำสืบ การกะประเด็นข้อพิพาทย่อมกะได้จากคำฟ้องและคำให้การซึ่งเป็นคำคู่ความ คำคู่ความเท่านั้นที่จะตั้งประเด็นระหว่างคู่ความได้ การฟังคำแถลงของคู่ความ และการสอบถามคู่ความเป็นเรื่องที่กฎหมายประสงค์แต่เพียงเพื่อให้ได้ความชัดในประเด็นข้อพิพาทเท่านั้น จะฟังคำแถลงของคู่ความหรือสอบถามคู่ความแล้วตั้งประเด็นขึ้นใหม่หาได้ไม่ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องและคำให้การแล้วกำหนดประเด็นข้อพิพาทโดยไม่ได้สอบถามหรือฟังคำแถลงของคู่ความก่อน จึงเป็นการชี้สองสถานโดยชอบแล้ว
คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยเป็นเรื่องที่จำเลยยืนยันว่าที่ดินพิพาทอยู่นอกเขตตราจองของโจทก์ โจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์และไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยอันเป็นข้อต่อสู้เดียวกับคำให้การซึ่งจำเลยได้สละแล้วในวันชี้สองสถาน กรณีจึงไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การหลังจากวันชี้สองสถานจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180
ในชั้นชี้สองสถานคู่ความแถลงไม่ติดใจประเด็นข้อ 1 ที่ว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตตราจองของโจทก์หรือไม่ ประเด็นข้อนี้จึงยุติ รูปคดีไม่มีเหตุที่จะต้องนำสืบในประเด็นข้อนี้ต่อไป จำเลยจึงขอให้สืบพยานในประเด็นข้อนี้อีกไม่ได้ บันทึกข้อตกลงในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลเป็นสัญญาที่โจทก์จำเลยทำขึ้นเพื่อระงับข้อพิพาทในคดีที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาท แม้โจทก์จำเลยจะทำต่อหน้าศาลโดยไม่ขอให้ศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 850

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่พิพาท จำเลยเช่าที่พิพาทปลูกบ้านอยู่อาศัยเมื่อครบกำหนดสัญญา โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปแต่จำเลยไม่ยอมโจทก์จึงฟ้องขับไล่ ต่อมาโจทก์จำเลยตกลงกันให้จำเลยอยู่ต่อไปอีก ๓ ปี เพื่อให้จำเลยพิสูจน์ว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ ครั้นครบกำหนด ๓ ปี จำเลยพิสูจน์ไม่ได้ว่าที่พิพาทไม่ใช่ของโจทก์ จำเลยจึงต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปแต่จำเลยไม่ยอม จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่พิพาท และให้ใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ปลูกบ้านในที่ดินของโจทก์ จำเลยยอมรับว่าได้ตกลงไว้กับโจทก์ในคดีก่อนจริง แต่ผลของการตรวจสอบยังไม่เป็นที่ยุติ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ในวันชี้สองสถาน คู่ความยอมรับกันว่าที่พิพาทนี้มีการฟ้องคดีมาครั้งหนึ่งแล้วและศาลได้บันทึกข้อตกลงไว้ คู่ความจึงไม่ติดใจประเด็นข้อ ๑ ที่ว่าที่ดินที่พิพาทอยู่ในเขตตราจองของโจทก์หรือไม่
ต่อมาจำเลยยื่นคำแถลงว่าติดใจสืบในประเด็นข้อ ๑ และยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและคำแถลง ส่วนโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น
วันนัดสืบพยานจำเลยซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำแถลงและคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและคำแถลงของจำเลย แล้วมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อตกลงตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลฟังได้ว่า ถ้าภายในกำหนด ๓ ปี จำเลยพิสูจน์ไม่ได้ว่าที่พิพาทไม่ใช่ของโจทก์จำเลยต้องออกจากที่พิพาท พิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่พิพาท ห้ามจำเลยและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้อง และให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำแถลงและคำร้องของจำเลยและอุทธรณ์คำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า คดียังไม่มีการชี้สองสถานเพราะศาลไม่ได้สอบถามคู่ความหรือฟังคำแถลงของคู่ความก่อนกำหนดประเด็นข้อพิพาทจำเลยจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การได้นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การชี้สองสถานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๘๓ คือการกะประเด็นข้อพิพาทและกำหนดหน้าที่นำสืบ การกะประเด็นข้อพิพาทย่อมกะได้จากคำฟ้องและคำให้การซึ่งเป็นคำคู่ความเพราะคำคู่ความเท่านั้นที่จะตั้งประเด็นระหว่างคู่ความได้ การฟังคำแถลงของคู่ความก็ดี การสอบถามคู่ความก็ดี เป็นเรื่องที่กฎหมายมุ่งประสงค์แต่เพียงเพื่อให้ได้ความชัดในประเด็นข้อพิพาทเท่านั้นจะฟังคำแถลงของคู่ความหรือสอบถามคู่ความแล้วตั้งประเด็นขึ้นใหม่หาได้ไม่ เมื่อศาลชั้นต้นได้ตรวจคำฟ้องและคำให้การซึ่งเป็นคำคู่ความแล้วกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้จึงเป็นการชี้สองสถานโดยชอบแล้ว
ที่จำเลยฎีกาอ้างอีกว่า คำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น ปรากฏว่าตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยฉบับลงวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๒๔ จำเลยยืนยันว่าที่ดินพิพาทอยู่นอกเขตตราจองของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทและไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยอันเป็นข้อต่อสู้เดียวกับคำให้การเดิม และเป็นข้อที่จำเลยได้สละแล้วในวันชี้สองสถานกรณีจึงมิใช่เรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนเมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การหลังจากวันชี้สองสถานและกรณีไม่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘๐
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยยังติดใจสืบพยานจำเลยในประเด็นข้อ ๑ ที่ว่าที่พิพาทอยู่ในเขตตราจองของโจทก์หรือไม่นั้น เห็นว่าในชั้นชี้สองสถานจำเลยแถลงรับว่าที่พิพาทนี้มีการฟ้องคดีมาครั้งหนึ่งแล้ว และศาลได้บันทึกข้อตกลงไว้ คู่ความจึงไม่ติดใจประเด็นข้อ ๑ ที่ว่าที่ดินที่พิพาทอยู่ในเขตตราจองของโจทก์หรือไม่ ดังปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๒๓ ดังนั้นเมื่อจำเลยรับแล้วว่าจำเลยเคยถูกฟ้องขับไล่ออกจากที่พิพาทมาครั้งหนึ่งแล้ว และได้มีบันทึกข้อตกลงไว้จริง และไม่ติดใจในประเด็นดังกล่าวแล้ว ประเด็นข้อนี้จึงยุติ รูปคดีไม่มีเหตุที่จะต้องนำสืบในประเด็นข้อนี้ต่อไปที่ศาลชั้นต้นให้ยกคำแถลงของจำเลยที่ขอสืบพยานในประเด็นข้อนี้ ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วย
ที่จำเลยฎีกาว่า บันทึกข้อตกลงตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๐ ไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาซึ่งโจทก์จำเลยทำขึ้นเพื่อระงับข้อพิพาทในคดีที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาท โดยโจทก์ให้โอกาสจำเลยไปร้องเรียนต่อทางราชการเพื่อพิสูจน์ว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือไม่ แม้โจทก์จำเลยจะทำต่อหน้าศาล โดยไม่ขอให้ศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๘๕๐
พิพากษายืน

Share