แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ฟ้องโจทก์จะมิได้ระบุตำแหน่งจำเลยมาในฟ้อง แต่ในคำบรรยายฟ้องได้กล่าวว่าจำเลยเป็นพนักงานปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน อาศัยความตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 และคำขอท้ายฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยและคำสั่งที่ มท 1206/9094 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2515 ของจำเลยโดยระบุตำแหน่งจำเลยไว้ด้วย ถือได้ว่าโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยเป็นส่วนตัว
แม้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะยังมิได้วินิจฉัยเนื้อหาของข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ แต่ได้วินิจฉัยอำนาจร้องของลูกจ้างอันเป็นประโยชน์ต่อโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยอุทธรณ์ของลูกจ้างแล้วจึงเป็นการครบขั้นตอนตามที่ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 23 กำหนดไว้ ฝ่ายที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้
การยื่นข้อเรียกร้องของลูกจ้างต่อนายจ้างต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 13 กำหนดไว้ โดยลูกจ้างต้องมีอยู่ครบจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสิบห้าของลูกจ้างทั้งหมดซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง หาใช่มีอยู่ครบจำนวนเพียงเฉพาะในวันยื่นข้อเรียกร้องไม่ การที่ลูกจ้างผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องถอนชื่อออกจากการสนับสนุนข้อเรียกร้องด้วยความสมัครใจเหลือจำนวนลูกจ้างผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องไม่ครบร้อยละสิบห้าของลูกจ้างซึ่งเกี่ยวกับข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ ข้อพิพาทแรงงานนั้น จึงสิ้นสภาพนับแต่วันที่ลูกจ้างผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องไม่ครบจำนวนตามกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการโรงเรียนพาณิชยการราชดำเนินธนบุรีจำเลยเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2525 ตัวแทนครูอาจารย์จำนวน 6 คน ในนามลูกจ้างของโจทก์ร่วมกันส่งหนังสือเรียกร้องสวัสดิการต่อโรงเรียน โจทก์ชี้แจงให้ครูและอาจารย์ทราบว่า โรงเรียนจัดสวัสดิการตามกฎระเบียบของโรงเรียนราษฎร์โดยถูกต้อง ทำให้ผู้ยื่นข้อเรียกร้องเข้าใจถอนชื่อออกจากการสนับสนุนข้อเรียกร้องจำนวน 52 คน คงมีนายอุฤทธิ์ นายเดชศักดิ์ และนายวีระจิตต์ ตัวแทนครูอาจารย์อีก 3 คนที่ไม่ยอมรับทราบและดำเนินการต่อมาในชั้นประนอมข้อพิพาทแรงงาน โจทก์แจ้งให้ทราบว่า การเรียกร้องเป็นโมฆะ เนื่องจากครูที่ลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องส่วนมากถอนชื่อ คงเหลือจำนวนครูไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด แต่พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานส่งเรื่องให้คณะกรรมการสัมพันธ์พิจารณา คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยว่า ครูถอนชื่อด้วยความสมัครใจเป็นผลให้ขาดองค์ประกอบตามมาตรา 13 วรรคสามแห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และมีคำสั่งว่าข้อเรียกร้องและข้อพิพาทแรงงานหมดสภาพไปแล้ว โจทก์เห็นว่าเป็นคำสั่งที่ชอบ ส่วนนายเดชศักดิ์ ลูกจ้างโจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นผลให้จำเลยมีคำสั่งที่ มท 1206/9094 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2525 ว่าข้อเรียกร้องยังมีอยู่ อันเป็นการขัดขวางการใช้สิทธิอันชอบธรรมของโจทก์ในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ มท 1206/9094 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2525 ของจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นส่วนตัว คำสั่งของจำเลยเป็นการสั่งให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยข้อพิพาทแรงงานต่อไปซึ่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ยังได้วินิจฉัยข้อพิพาทแรงงานระหว่างโจทก์กับลูกจ้างของโจทก์ จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่เป็นการขัดขวางสิทธิของโจทก์ เพราะเมื่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยว่า ลูกจ้างผู้ลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องส่วนมากถอนชื่อออกจากการสนับสนุนข้อเรียกร้องคงเหลือลูกจ้างที่สนับสนุนข้อเรียกร้องไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด ข้อเรียกร้องและข้อพิพาทแรงงานหมดสภาพไปตั้งแต่วันที่ลูกจ้างถอนการสนับสนุนจึงไม่มีข้อพิพาทแรงงานต่อไปนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นว่าข้อเรียกร้องของลูกจ้างมีรายชื่อและลายมือชื่อลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละสิบห้าของลูกจ้างทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง จึงสมบูรณ์ตามมาตรา 13 แห่ง พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ทั้งมีการเจรจาหาทางตกลงกันตาม พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ แล้ว แม้ภายหลังจะมีลูกจ้างบางส่วนสมัครใจขอถอนชื่อออกจากข้อเรียกร้อง แต่ลูกจ้างทั้งหมดมิได้ขอถอนชื่อออกจากข้อเรียกร้องข้อเรียกร้องยังมีอยู่และไม่ทำให้ข้อเรียกร้องเสียไป ข้อพิพาทแรงงานนี้จึงเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะต้องพิจารณาต่อไป หากโจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ย่อมอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามขั้นตอนได้ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว ในกรณีคำวินิจฉัยไม่เป็นที่พอใจโจทก์จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ในวันพิจารณา คู่ความรับกันว่า โจทก์มีลูกจ้างที่เป็นครูและพนักงานเจ้าหน้าที่ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2525 ซึ่งเป็นวันที่ลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องจำนวน 271 คน ลูกจ้างที่มีชื่อและลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องมีจำนวน 69 คนหลังจากยื่นข้อเรียกร้องแล้ว มีผู้ถอนชื่อจำนวน 53 คน การถอนชื่อดังกล่าวโจทก์มีบันทึกของลูกจ้างจำนวน 53 คน และเป็นการให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จำนวน 44 คนอีกส่วนหนึ่ง ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดสืบพยานคู่ความ
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า กรณีเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ในกิจการของโรงเรียนราษฎร์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนราษฎร์ พนักงานประนอมข้อพิพาทต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยว่า ลูกจ้างผู้ลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องส่วนมากถอนชื่อออกจากข้อเรียกร้อง คงเหลือจำนวนลูกจ้างที่สนับสนุนข้อเรียกร้องไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด ข้อเรียกร้องและข้อพิพาทแรงงานหมดสภาพตั้งแต่วันที่ลูกจ้างขอถอนชื่อฝ่ายลูกจ้างอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีคำวินิจฉัยว่าข้อเรียกร้องของลูกจ้างมีรายชื่อและลายมือชื่อของลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละสิบห้าของลูกจ้างทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง จึงเป็นข้อเรียกร้องที่สมบูรณ์ ทั้งมีการเจรจาหาทางตกลงกันแล้ว แม้ภายหลังลูกจ้างบางส่วนสมัครใจขอถอนชื่อออกจากข้อเรียกร้องแต่ลูกจ้างทั้งหมดมิได้ขอถอนชื่อออกจากข้อเรียกร้อง ข้อเรียกร้องยังมีอยู่ ให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาวินิจฉัยต่อไป โจทก์ในฐานะนายจ้างได้รับการโต้แย้งสิทธิจากผลการวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว เพราะหากโจทก์ไม่ฟ้องคดีนี้เป็นการยอมรับว่า ข้อเรียกร้องของลูกจ้างยังมีอยู่และต้องดำเนินการต่อไป ซึ่งโจทก์คัดค้านโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง การยื่นข้อเรียกร้องของลูกจ้างต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 13 โดยจำนวนลูกจ้างต้องมีอยู่ครบจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละสิบห้า หาใช่มีอยู่ครบจำนวนเพียงเฉพาะในวันยื่นข้อเรียกร้องเท่านั้นไม่ เมื่อลูกจ้างที่ยื่นข้อเรียกร้องเหลืออยู่ 16 คน จากจำนวนลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องทั้งหมด 271 คน ข้อเรียกร้องนั้นจึงสิ้นสภาพลงนับแต่วันที่จำนวนลูกจ้างไม่ครบจำนวนตามเงื่อนไขของมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ไม่ต้องคำนึงว่าจะได้มีการเริ่มเจรจาตามขั้นตอนของกฎหมายหรือไม่ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ถูกต้องแล้วพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่ มท 1206/9094 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2525 ของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า เห็นว่า ฟ้องของโจทก์ข้อ 2 ว่าจำเลยเป็นพนักงานปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานอาศัยความตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 และคำขอท้ายฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยและคำสั่งที่ มท 1206/9094 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2525 ของนายวิเชียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จำเลย โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยเป็นการส่วนตัว
จำเลยอุทธรณ์ว่าคำสั่งที่ มท 1206/9094 เป็นการสั่งให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยข้อพิพาทแรงงานต่อไป เพื่อให้การดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ซึ่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทข้อเรียกร้องของลูกจ้างยังมีอยู่และจะต้องดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์คำสั่งดังกล่าวไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่ากรณีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้นั้นผ่านขั้นตอนการพิจารณาวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แล้ว แม้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ยังมิได้พิจารณาวินิจฉัยเนื้อหาของข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ แต่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาวินิจฉัยถึงอำนาจร้องของลูกจ้างแล้ว อันเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยอุทธรณ์ของลูกจ้างก็เป็นกรณีที่ครบขั้นตอนตามที่พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 23 บัญญัติไว้ ฝ่ายที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกรณีนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยอุทธรณ์ว่า ข้อเรียกร้องของลูกจ้างยังมีอยู่ให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดำเนินการต่อไป จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในฐานะนายจ้างว่า ข้อเรียกร้องของลูกจ้างยังมีอยู่และต้องดำเนินการต่อไปหรือไม่ อันเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหน้าที่ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยหรือคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
จำเลยอุทธรณ์ว่า ข้อเรียกร้องของลูกจ้างมีรายชื่อและลายมือชื่อของลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละสิบห้าของลูกจ้างทั้งหมดซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องจึงสมบูรณ์ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แม้ภายหลังลูกจ้างบางส่วนถอนชื่อออกจากข้อเรียกร้อง แต่ลูกจ้างทั้งหมดมิได้ถอนชื่อออกจากข้อเรียกร้องข้อเรียกร้องนั้นยังคงสมบูรณ์มีอยู่จนกว่าจะมีการเจรจาตกลงกัน ถือว่าข้อพิพาทแรงงานนี้เป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ซึ่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะต้องพิจารณาต่อไปเห็นว่า การยื่นข้อเรียกร้องของลูกจ้างต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 13 โดยจำนวนลูกจ้างจะต้องมีอยู่ครบจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละสิบห้าหาใช่มีอยู่ครบจำนวนเพียงเฉพาะในวันยื่นข้อเรียกร้องไม่ การที่ลูกจ้างผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องถอนชื่อออกจากการสนับสนุนข้อเรียกร้องด้วยความสมัครใจคงเหลือจำนวนลูกจ้างผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องไม่ครบร้อยละสิบห้าของลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 นั้น ข้อพิพาทแรงงานนี้จึงสิ้นสภาพลงนับแต่วันที่ลูกจ้างผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องไม่ครบจำนวนตามกฎหมาย
พิพากษายืน