คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5987/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยหลบหนีไปขณะถูกนำตัวไปเข้ารับการฟื้นฟูที่ศูนย์ฟื้นฟูฯ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีคำสั่งว่า ผลการฟื้นฟูไม่เป็นที่พอใจ และให้แจ้งพนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรณภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 13 (8) ประกอบมาตรา 33 วรรคสอง เป็นการไม่ชอบ เพราะมาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด รายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการดำเนินคดีผู้เข้ารับการฟื้นฟู ในกรณีที่ผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูครบถ้วนตามกำหนดเวลาแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่พอใจ ฉะนั้น เมื่อได้ตัวจำเลยมาแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วน ตามมาตรา 25 ก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังว่า ก่อนจำเลยถูกฟ้องเป็นคดีนี้ ในระหว่างสอบสวน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อทำการตรวจพิสูจน์การเสพหรือติดยาเสพติด คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุรินทร์ มีคำวินิจฉัยให้จำเลยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบควบคุมตัว เข้มงวด เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2552 เป็นเวลา 120 วัน ตามคำวินิจฉัยที่ 1131/2552 ในวันดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวจำเลยไปเข้ารับการฟื้นฟู ที่ศูนย์การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกองบิน 21 จังหวัดอุบลราชธานี ขณะเดินทางถึงอำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ จำเลยบอกปวดปัสสาวะ จึงได้แวะเข้าปั๊มน้ำมัน เพื่อให้จำเลยปัสสาวะแต่จำเลยได้หลบหนีไป ไม่สามารถติดตามจับกุมตัวได้ ต่อมาคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุรินทร์ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การให้โอกาสแก่จำเลยผู้เข้ารับการฟื้นฟูให้กลับตนเป็นพลเมืองดีของสังคม โดยวิธีการบำบัดฟื้นฟูไม่เหมาะสมและใช้ไม่ได้ผล ผลการฟื้นฟูไม่เป็นที่พอใจ ให้คืนสำนวนแก่พนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป โจทก์จึงนำตัวจำเลยมาฟ้องเป็นคดีนี้
มีปัญหาวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 นั้น ผู้ที่จะถูกส่งตัวไปเข้ารับการฟื้นฟูคือบุคคลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 ไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดก่อนและคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีอำนาจวินิจฉัยว่า ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ผู้ใดเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด จากนั้นต้องจัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 22 จำเลยคดีนี้เป็นผู้เข้ารับการฟื้นฟูตามคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุรินทร์ ที่ 1131/2552 โดยให้จำเลยเข้ารับการฟื้นฟูแบบควบคุมตัว เข้มงวด ณ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกองบิน 21 จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเวลา 120 วัน หลังจากนั้นให้เข้าสู่โปรแกรมกลับสู่สังคม โดยให้รายงานตัวเดือนละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 2 เดือน ทำงานบริการสังคมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิด ยินยอมให้ตรวจหาสารเสพติดในร่างกาย จำเลยได้หลบหนีไปในระหว่างพนักงานเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวจำเลยเพื่อเดินทางไปยังศูนย์ฟื้นฟู ไม่สามารถติดตามตัวจำเลยมาเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูได้ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุรินทร์ จึงมีคำสั่งที่ 51/2553 ว่า การให้โอกาสแก่ผู้เข้ารับการฟื้นฟูรายนี้โดยใช้วิธีการบำบัดฟื้นฟูไม่ได้ผล อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 13 (8) ประกอบมาตรา 33 วรรคสอง วินิจฉัยว่า ผลการฟื้นฟูไม่เป็นที่พอใจและให้พนักงานสอบสวนรับตัวจำเลยเพื่อดำเนินคดีต่อไป การที่จำเลยหลบหนีไปขณะถูกนำตัวไปเข้ารับการฟื้นฟูที่ศูนย์ฟื้นฟู เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 30 และมาตรา 31 พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจและหน้าที่จับตัวจำเลยกลับเข้าไปไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เพื่อบำบัดฟื้นฟูตามแผนและมีอำนาจลงโทษตามมาตรา 32 ได้อีกด้วย แต่ยังไม่ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุรินทร์ ได้ดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แต่ประการใด จำเลยยังไม่เคยถูกส่งตัวเข้าศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกองบิน 21 จังหวัดอุบลราชธานี เลย ดังนั้น การที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุรินทร์ ด่วนมีคำสั่งที่ 51/2553 ว่า การให้โอกาสแก่ผู้เข้ารับการฟื้นฟูรายนี้โดยใช้วิธีการบำบัดฟื้นฟูไม่เหมาะสมและไม่ได้ผล จึงวินิจฉัยว่าผลการฟื้นฟูไม่เป็นที่พอใจและให้แจ้งพนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป ตามมาตรา 13 (8) ประกอบมาตรา 33 วรรคสอง จึงเป็นการไม่ชอบ เพราะมาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด รายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการดำเนินคดีผู้เข้ารับการฟื้นฟู ในกรณีที่ผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูครบถ้วนตามกำหนดเวลาแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่พอใจ ฉะนั้น เมื่อได้ตัวจำเลยมาแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วน ตามมาตรา 25 ก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share