คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3206/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

วิธีการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากรมาตรา 50(1) สำหรับผู้มีเงินได้ที่เข้าทำงานระหว่างปี หรือได้รับเงินเดือนขึ้นระหว่างปีนั้น ให้นำเงินเดือนเริ่มตั้งแต่เดือนที่จ่ายคำนวณล่วงหน้าจนถึงสิ้นปี เป็นเงินได้พึงประเมินสำหรับคำนวณภาษีตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ หากมีการจ่ายเงินโบนัสก็จะนำเงินโบนัสรวมกับเงินเดือนที่จ่ายเป็นเงินได้พึงประเมินสำหรับคำนวณภาษีด้วย แล้วหารด้วยจำนวนเดือนที่จ่ายหักไว้เป็นภาษีแต่ละเดือน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ ๑ ได้แจ้งแก่โจทก์ว่าโจทก์ได้จ่ายเงินได้พึงประเมินให้แก่พนักงานและคนงานโดยมิได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งจำเลยที่ ๑ ให้ถูกต้องครบถ้วน ให้โจทก์นำเงินภาษีและเงินเพิ่มไปชำระภายใน ๓๐ วัน โจทก์ได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ว่า โจทก์ได้หักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งจำเลยที่ ๑ ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ในฐานะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์โดยให้เหตุผลว่าการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายของพนักงานที่ได้รับเงินเดือนขึ้นระหว่างปี หรือเข้าทำงานหรือออกจากงานระหว่างปี เมื่อมีการจ่ายเงินได้ตามมาตรา ๔๐(๑)แห่งประมวลรัษฎากรแต่ละเดือน การคำนวณยอดเงินได้พึงประเมินเพื่อคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา ๕๐(๑) แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องนำจำนวนเงินที่จ่ายคูณจำนวนครั้งที่จ่ายเสมือนหนึ่งได้จ่ายทั้งปี เช่นในกรณีจ่ายเงินได้เป็นรายเดือนจะต้องคูณด้วย ๑๒ เสมอไป และเมื่อคำนวณภาษีตามมาตรา ๔๘ ได้เงินเท่าใดแล้วจึงนำจำนวนครั้งที่ใช้เป็นตัวคูณนั้นมาหารยอดภาษีที่คำนวณได้ ได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใด จึงให้นำส่งตามนั้น โจทก์เห็นว่าวิธีคำนวณภาษีของจำเลยดังกล่าวไม่ถูกต้องตามมาตรา ๕๐(๑) แห่งประมวลรัษฎากรโจทก์ได้หักและนำส่งภาษีถูกต้องครบถ้วนแล้ว สำหรับพนักงานชาวต่างประเทศซึ่งโจทก์ออกภาษีให้ โจทก์คำนวณภาษีตามสูตรสำเร็จของกรมสรรพากรส่วนพนักงานและคนงานที่ไม่ใช่ชาวต่างประเทศโจทก์ไม่ออกภาษีให้โจทก์คำนวณภาษีเงินได้จากเงินเดือนหรือค่าจ้างที่จ่าย ตั้งแต่เดือนที่จ่ายหรือตั้งแต่เดือนที่ได้รับเงินเดือนขึ้น ถ้าได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างตั้งแต่เดือนมกราคมก็คำนวณเต็มทั้งปีหรือคูณเงินที่จ่ายด้วย ๑๒ ในกรณีที่พนักงานหรือคนงานได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างหรือได้ขึ้นเงินเดือนระหว่างปี โจทก์ก็คำนวณว่ามีเงินได้หรือเงินได้เพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนที่พนักงานหรือลูกจ้างได้รับเงินเดือนหรือเงินเพิ่มขึ้นตลอดไปจนถึงสิ้นปี เช่นได้รับเงินเดือนตั้งแต่ครึ่งปีก็คูณเงินที่จ่ายด้วย ๖ เป็นต้น ในกรณีที่มีการจ่ายเงินโบนัสก็จะนำมารวมกับเงินเดือนหรือเงินค่าจ้างที่พนักงานหรือคนงานได้รับแล้วถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ซึ่งวิธีคำนวณของโจทก์ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสีย
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับพนักงานหรือคนงานที่ทำงานเต็มปี รวมทั้งกรณีที่จ่ายเงินโบนัสให้พนักงานหรือคนงานที่ทำงานเต็มปีนำส่งไว้ถูกต้องแล้ว แต่กรณีที่พนักงานหรือคนงานเข้าทำงานไม่เต็มปีหรือได้รับเงินเดือนขึ้นระหว่างปี กับกรณีที่มีการจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานหรือคนงานดังกล่าว โจทก์คำนวณภาษีโดยวิธีของโจทก์ไม่ถูกต้อง ที่ถูกจะต้องคำนวณโดยวิธีของจำเลย คำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องแล้วขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น คู่ความรับกันว่าการคำนวณภาษีของโจทก์สำหรับพนักงานชาวต่างประเทศและพนักงานหรือลูกจ้างที่ทำงานเต็มปีถูกต้อง คงโต้เถียงกันเฉพาะการคำนวณภาษีเงินได้สำหรับพนักงานหรือคนงานที่ทำงานไม่เต็มทั้งปีว่าจะใช้คำนวณตามวิธีของฝ่ายใด ให้ศาลวินิจฉัยโดยคู่ความไม่สืบพยาน หากศาลวินิจฉัยว่าต้องคำนวณตามวิธีของโจทก์จำเลยยอมแพ้ ถ้าต้องคำนวณตามวิธีของจำเลย โจทก์ยอมแพ้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ต้องคำนวณตามวิธีของจำเลย โจทก์จึงต้องแพ้คดีพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า วิธีคำนวณของโจทก์ถูกต้อง พิพากษากลับให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในปัญหาเกี่ยวกับวิธีการคำนวณภาษีเงินได้สำหรับพนักงานหรือคนงานของโจทก์ที่เข้าทำงานระหว่างปี หรือได้รับเงินเดือนขึ้นระหว่างปีตามที่จำเลยฎีกานั้น ปรากฏจากคำฟ้องและคำให้การจำเลยว่า โจทก์ใช้วิธีนำจำนวนเงินเดือนเริ่มตั้งแต่เดือนที่จ่ายคำนวณล่วงหน้าจนถึงสิ้นปีเป็นเงินได้พึงประเมินสำหรับคำนวณภาษีตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดหากมีการจ่ายเงินโบนัสก็จะนำเงินโบนัสรวมกับเงินเดือนที่จ่ายเป็นเงินได้พึงประเมินสำหรับคำนวณภาษีด้วย แล้วหารด้วยจำนวนเดือนที่จ่าย หักไว้เป็นภาษีเงินได้แต่ละเดือน แต่จำเลยใช้วิธีคำนวณโดยถือว่าพนักงานหรือคนงานได้รับเงินเดือนเต็มทั้งปี หรือนัยหนึ่งคูณเงินเดือนที่จ่ายด้วย ๑๒ เสมอไป แม้ผู้นั้นจะเริ่มเข้าทำงานและได้รับเงินเดือนในปีนั้นเพียงเดือนเดียวก็ตาม ถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินที่นำมาคำนวณภาษีเงินได้ โดยไม่คำนึงว่าผู้มีเงินได้จะได้รับเงินได้จริงเท่าใด
ปัญหาว่าการคำนวณตามวิธีของโจทก์หรือของจำเลยถูกต้อง เห็นว่าตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๓๙ “เงินได้พึงประเมิน” หมายความว่า เงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้ เงินได้ที่กล่าวนี้ ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงินจะเห็นได้ว่าเงินได้อันจะนำมาคำนวณภาษีนั้นไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่น ก็ต้องเป็นสิ่งที่ผู้มีเงินได้ได้รับมาแล้ว การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย มาตรา ๕๐ บัญญัติว่า ให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินหักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐(๑) และ (๒) ให้คูณเงินได้พึงประเมินที่จ่ายด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายเพื่อให้ได้จำนวนเงินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี แล้วคำนวณภาษีตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ แสดงให้เห็นว่าเงินได้ที่จะนำมาคำนวณภาษีก็ต้องเป็นเงินได้ที่ได้จ่ายคูณด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายต่อไปจนถึงเดือนสุดท้ายของปี ส่วนข้อความที่ว่าเพื่อให้ได้จำนวนเงินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปีนั้นก็เพราะเป็นการคำนวณภาษีไว้ล่วงหน้าจากเงินได้พึงประเมินที่คาดหมายว่าผู้มีเงินได้จะพึงได้รับตลอดไปจนถึงสิ้นปี หากจะตีความว่าเพื่อให้ได้จำนวนเงินที่จ่ายเต็มทั้งปี ก็ไม่จำต้องบัญญัติให้คูณเงินได้ที่จ่ายด้วยจำนวนคราวที่จ่ายอีก ในกรณีที่ผู้จ่ายเงินได้มิได้หักและนำเงินส่งหรือหักและนำส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ผู้จ่ายเงินก็จะต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่มิได้หักและนำส่งหรือตามจำนวนที่ขาดตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๕๔ อันแสดงว่า ผู้จ่ายเงินจะต้องรับผิดเช่นเดียวกับผู้มีเงินได้สำหรับจำนวนภาษีที่ต้องชำระเท่านั้น ซึ่งผู้มีเงินได้จะต้องรับผิดเสียภาษีเงินได้ก็ต่อเมื่อมีเงินได้พึงประเมินอยู่ในเกณฑ์ตามมาตรา ๔๘ การที่จำเลยคำนวณภาษีเงินได้จากเงินเดือนพนักงานหรือคนงานของโจทก์กรณีเข้าทำงานหรือได้รับเงินเดือนขึ้นระหว่างปีเป็นว่ามีเงินได้ทั้งปีโดยโจทก์มิได้จ่ายเงินจำนวนนั้นเป็นการนำจำนวนเงินที่ผู้มีเงินได้มิได้รับจริงซึ่งเงินจำนวนนั้นยังไม่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๓๙ มารวมคำนวณภาษีเงินได้ด้วย ย่อมเป็นวิธีคำนวณให้ยอดเงินภาษีเงินได้สูงกว่าที่ผู้มีเงินได้ควรจะต้องชำระ และทำให้ผู้เสียภาษีต้องมีภาระในการขอคืนภาษีทั้ง ๆ ที่เสียภาษีไว้ล่วงหน้า ประมวลรัษฎากร มาตรา ๕๐(๑) ก็ได้บัญญัติความไว้ว่าเมื่อคำนวณภาษีได้ทั้งสิ้นเท่าใดให้หารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใดให้หักเงินภาษีไว้เท่านั้น ถ้าเหลือเศษให้รวมเข้ากับเงินภาษีที่จะต้องหักไว้ครั้งสุดท้ายในปีนั้น เพื่อให้ยอดเงินภาษีที่หักรวมทั้งปีเท่ากับจำนวนภาษีที่จะต้องเสียทั้งปี เป็นที่เห็นได้ชัดว่ากฎหมายมุ่งประสงค์จะให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินหักภาษีไว้เท่าจำนวนที่ผู้มีเงินได้จะต้องเสียเท่านั้น คือต้องคำนวณจากเงินได้ที่ผู้มีเงินได้ได้รับแล้วหรือเป็นที่แน่ชัดว่าควรจะได้รับต่อไปจนถึงเดือนสุดท้ายของปีเท่านั้นดังนั้นศาลฎีกาเห็นว่าวิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์ชอบด้วยบทบัญญัติของประมวลรัษฎากรแล้ว
พิพากษายืน

Share