แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อลูกจ้างของฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยต่างมีความประมาทพอ ๆ กัน มิได้ยิ่งหย่อนกว่ากัน สมควรให้ค่าสินไหมทดแทนอันจะพึงใช้แก่กันนั้นเป็นพับ และเป็นผลถึงโจทก์และจำเลยในฐานะที่ต่างฝ่ายต่างเป็นนายจ้างของลูกจ้างผู้กระทำละเมิดดังกล่าวไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเช่นกัน
โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตจังหวัดยะลา ซึ่งได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานีนราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษให้ใช้บังคับแก่ผู้นับถือศาสนาอิสลาม อันเกี่ยวด้วยครอบครัวและมรดก เฉพาะในสี่จังหวัดดังกล่าว แทนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 บรรพ 6 เมื่อโจทก์ที่ 2 ที่ 3 นำสืบว่าได้แต่งงานเป็นสามีภรรยาโดยถูกต้องตามกฎหมายอิสลาม ซึ่งจำเลยมิได้นำสืบหักล้างจึงต้องฟังว่าโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 เป็นสามีภรรยาและเป็นบิดามารดาของบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นสิทธิเฉพาะตัวที่กฎหมายได้รับรอง โดยมิต้องคำนึงว่าจะเกิดเป็นคดีพิพาทในจังหวัดใด ๆ ก็ตาม และเมื่อมีผู้กระทำละเมิดเป็นเหตุให้บุตรของโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ก็มีอำนาจฟ้องผู้กระทำละเมิดให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นเจ้าของรถยนต์รับจ้างรับส่งคนโดยสารจำเลยเป็นเจ้าของรถยนต์กระบะคันที่ลูกจ้างของจำเลยขับชนรถของโจทก์ที่ ๑ ซึ่งขับโดยโจทก์ที่ ๕ โดยประมาท ทำให้รถโจทก์ที่ ๑ เสียหายทั้งยังเป็นเหตุให้โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๕ ได้รับบาดเจ็บ บุตรโจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ และภริยาโจทก์ที่ ๖ ถึงแก่ความตาย จึงขอให้จำเลยผู้เป็นนายจ้าง ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์แต่ละคน
จำเลยให้การต่อสู้คดีหลายประการ รวมทั้งต่อสู้ว่า เหตุเกิดขึ้นมิใช่เพราะความประมาทของผู้ขับรถของจำเลย แต่เป็นความประมาทของโจทก์ที่ ๕ โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ มิใช่บิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เหตุแห่งการที่รถทั้งสองฝ่ายเกิดการชนกันขึ้นเป็นเพราะความประมาทของลูกจ้างจำเลย และโจทก์ที่ ๕ ลูกจ้างของโจทก์ที่ ๑ มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย แต่ลูกจ้างของจำเลยมีส่วนประมาทมากกว่า จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างควรต้องรับผิดในความเสียหายต่อโจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๕ เพียงกึ่งหนึ่งของค่าเสียหายที่ได้รับ พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๖ เป็นรายบุคคล
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงว่า เหตุแห่งการที่รถของทั้งสองฝ่ายชนกันเกิดขึ้นจากความประมาทของลูกจ้างของจำเลย และโจทก์ที่ ๕ ลูกจ้างของโจทก์ที่ ๑ พอ ๆ กัน และวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า เมื่อเปรียบเทียบพฤติการณ์และความร้ายแรงของความประมาทระหว่างโจทก์ที่ ๕ กับนายผลหรือพลแล้วศาลฎีกาเห็นว่า ต่างมีความประมาทและความร้ายแรงพอ ๆ กันมิได้ยิ่งหย่อนกว่ากัน สมควรให้ค่าสินไหมทดแทนอันจะพึงใช้แก่กันนั้นเป็นพับ ซึ่งเป็นผลถึงโจทก์ที่ ๑ และจำเลยในฐานะที่ต่างฝ่ายต่างเป็นนายจ้างของลูกจ้างผู้กระทำละเมิดดังกล่าวไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเช่นกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๓, ๔๒๕, ๔๓๘ ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่า นายผลหรือพลลูกจ้างของจำเลยมีส่วนประมาทมากกว่าโจทก์ที่ ๕ และให้จำเลยในฐานะนายจ้างของนายผลหรือพลมีส่วนต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๕ นั้น ศาลฎีกาไม่อาจเห็นพ้องด้วยทั้งหมด ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ส่วนฎีกาจำเลยในข้อที่ว่า โจทก์ที่ ๒ และโจทก์ที่ ๓ มิได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่เป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย นายมา สาเหาะจึงไม่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้บุคคลดังกล่าวจะมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดยะลา แต่มูลกรณีละเมิดเกิดในเขตจังหวัดสงขลา จะนำเอากฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกมาใช้บังคับแก่กรณีนี้ไม่ได้นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ที่ ๒ และโจทก์ที่ ๓ เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดยะลา ซึ่งได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาสยะลา และสตูล พ.ศ. ๒๔๘๙ ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษให้ใช้บังคับแก่ผู้นับถือศาสนาอิสลามอันเกี่ยวด้วยครอบครัวและมรดก เฉพาะในสี่จังหวัดดังกล่าวแทนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ว่าด้วยครอบครัวและบรรพ ๖ ว่าด้วยมรดก เมื่อโจทก์ที่ ๒ และโจทก์ที่ ๓ นำสืบว่าได้แต่งงานเป็นสามีภรรยาโดยถูกต้องตามกฎหมายอิสลาม ซึ่งจำเลยก็มิได้นำสืบหักล้างในข้อนี้ ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่า โจทก์ที่ ๒ และโจทก์ที่ ๓ เป็นสามีภรรยาและเป็นบิดามารดาของนายสาเหาะโดยชอบด้วยกฎหมายอันเป็นสิทธิเฉพาะตัวที่กฎหมายได้รับรอง โดยมิพักต้องคำนึงว่าจะเกิดเป็นคดีพิพาทในจังหวัดใด ๆ ก็ตาม โจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องคดีเฉพาะโจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๕ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์