คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5875/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสุดท้าย ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตรา สูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการตกลงทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่จะถูกเวนคืนตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง จึงไม่มีวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 11 ดังนั้น วันเริ่มต้นนับดอกเบี้ยจึงต้องนับตั้งแต่วันที่วางเงินค่าทดแทน ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีหนังสือลงวันที่ 25 ตุลาคม 2536 แจ้งให้โจทก์ทราบว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดิน ที่ถูกเวนคืน เพราะเมื่อเอาราคาที่ดินที่สูงขึ้นของที่ดิน ที่เหลือจากการเวนคืนหักออกจากเงินค่าทดแทนแล้วเกลือนกลืนกันโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2536เมื่อปรากฏความจริงว่าฝ่ายจำเลยจะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนแก่โจทก์จำนวน 2,780,000 บาท ฝ่ายจำเลยย่อมมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าทดแทนจำนวนนั้นไปวางต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์หรือฝากไว้กับธนาคารออมสินในชื่อของโจทก์โดยพลันตามมาตรา 28 วรรคสอง ซึ่งเท่ากับจำเลยทั้งสามต้องนำเงินค่าทดแทนไปวางนับแต่วันที่โจทก์รับหนังสือดังกล่าวคือวันที่ 27 ตุลาคม 2536 ดังนี้ วันเริ่มต้นนับดอกเบี้ยจึงเป็นวันที่ 27 ตุลาคม 2536 หาใช่นับแต่วันที่25 ตุลาคม 2536 ซึ่งเป็นวันที่ลงในหนังสือไม่ และอัตราดอกเบี้ยในจำนวนเงินค่าทดแทนที่โจทก์จะได้รับก็จะต้องเป็นดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงเป็นคราว ๆ ไป แต่ไม่เกินอัตราร้อยละที่โจทก์ขอมา โดยโจทก์ไม่ต้องนำสืบในเรื่องอัตราดอกเบี้ย สูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินว่ามีอัตราเท่าใดเพราะเป็นกรณีที่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว เมื่อไม่ปรากฏชัดว่าฝ่ายจำเลยได้จ่ายเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กำหนดกับดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ไปแล้วหรือไม่ ในชั้นนี้ศาลจึงยังไม่นำเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กำหนดกับดอกเบี้ยมาหักออก แต่หากมีรายจ่ายเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กำหนดกับดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ไปแล้วก็ต้องนำมาหักกันในชั้นบังคับคดีต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2516 ได้มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ และแขวงสีลมเขตบางรัก และแขวงยานนาวา แขวงทุ่งมหาเมฆ แขวงทุ่งวัดดอนและแขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2516ประกาศใช้บังคับเพื่อสร้างและปรับปรุงระบบระบายน้ำ ปรากฏว่าที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 43,662,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 41,300,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงิน7,680,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินค่าทดแทน 22,380,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการแรกว่า คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ฯ กำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ถูกต้องเหมาะสมและเป็นธรรมแล้วหรือไม่นั้นเห็นว่า ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 60,000 บาท เป็นราคาที่ชอบด้วยเหตุผลและเป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมแล้ว ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 3719ถูกเวนคืนเนื้อที่ 373 ตารางวา รวมเป็นเงินค่าทดแทนทั้งสิ้น22,380,000 บาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสาม ประการต่อมาคือ ปัญหาที่ว่าที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้นจากการตัดถนนสายใหม่ เป็นเหตุให้นำราคาที่ดินส่วนที่สูงขึ้นไปหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินเกลือนกลืนกันจนเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสามไม่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ เมื่อพิจารณารูปแผนที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 3719 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 กับพิจารณาแนวเขตที่ดินที่ถูกเวนคืนตามสำเนาแผนผังที่ดินที่ถูกเวนคืนในเอกสารหมาย ล.4และ ล.7 ในกรอบสีเหลือแล้ว เห็นว่า ที่ดินของโจทก์ส่วนที่ถูกเวนคืนอยู่ทางด้านทิศตะวันตกซึ่งเป็นด้านที่อยู่ติดกับคลองช่องนนทรีที่ดินของโจทก์ด้านนี้เดิมไม่มีทางสาธารณะผ่านแต่เมื่อถูกเวนคืนและทางราชการตัดถนนสายใหม่ผ่านแล้วที่ดินของโจทก์ด้านนี้ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนจะอยู่ติดถนนที่ทางราชการตัดใหม่ที่กว้างถึง 60 เมตร อีกด้านหนึ่ง ตามสำเนาบันทึกข้อความเอกสารหมาย ล.13 และ ล.17 ที่ดินด้านนี้ศาลฎีกาเห็นว่า ค่าความเจริญของที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนทั้งหมดอันเนื่องมาจากการเวนคืนควรจะเพิ่มเพียงหนึ่งในสามของราคาที่ดินที่ถูกเวนคืนที่ถูกเวนคืนตามที่ศาลกำหนดให้ข้างต้น คือราคาสูงขึ้นเฉลี่ยตารางวาละ 20,000 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 3719ของโจทก์เหลือจากการเวนคืน (ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2511 มีผลใช้บังคับ) อยู่2 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา หรือ 980 ตารางวา จึงมีค่าความเจริญหรือมีราคาสูงขึ้นเป็นเงิน 19,600,000 บาท นำค่าความเจริญหรือราคาที่สูงขึ้นจำนวน 19,600,000 บาท หักออกจากเงินค่าทดแทนที่ถูกเวนคืนจำนวน 22,380,000 บาท คงเหลือเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนซึ่งโจทก์จะได้รับอยู่อีกจำนวน 2,780,000 บาทที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าหลังจากมีการเวนคืนแล้วที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนหากจะมีราคาสูงขึ้นบ้างก็จะเป็นไปโดยสภาพของความเจริญตามปกติทั่ว ๆ ไป ทั้งการที่ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนยังอาจทำให้โจทก์เสียโอกาสในการก่อสร้างอาคารสูง ๆ ได้ด้วยและพยานจำเลยทั้งสามก็รับฟังไม่ได้แน่ชัดว่าที่ดินของโจทก์ควรจะมีราคาสูงขึ้นเพราะการเวนคืนเพียงใดศาลอุทธรณ์จึงไม่หักค่าที่ดินที่อาจมีราคาสูงขึ้นออกจากเงินค่าทดแทนที่ฝ่ายจำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสามในปัญหานี้ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามคือปัญหาเรื่องดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนที่โจทก์จะได้รับ โดยจำเลยทั้งสามฎีกาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนที่ดินดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เห็นว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสุดท้ายบัญญัติว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น” คดีนี้ปรากฏว่า ไม่มีการตกลงทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่จะถูกเวนคืนตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง จึงไม่มีวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 11 ดังนั้น วันเริ่มต้นนับดอกเบี้ยจึงต้องนับตั้งแต่วันที่วางเงินค่าทดแทน ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีหนังสือลงวันที่25 ตุลาคม 2536 แจ้งให้ทราบว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน เพราะเมื่อเอาราคาที่ดินที่สูงขึ้นของที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนหักออกจากเงินค่าทดแทนแล้วเกลือนกลืนกันฝ่ายจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนแก่โจทก์ตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย ล.25 มีหลักฐานปรากฏท้ายสำเนาหนังสือฉบับนั้นว่าโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2536 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าความจริงฝ่ายจำเลยจะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน2,780,000 บาท ดังได้วินิจฉัยแล้ว ฝ่ายจำเลยย่อมมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าทดแทนจำนวน 2,780,000 บาท นั้น ไปวางต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์หรือฝากไว้กับธนาคารออมสินในชื่อของโจทก์โดยพลันตามมาตรา 28 วรรคสอง ซึ่งเท่ากับจำเลยทั้งสามต้องนำเงินค่าทดแทนไปวาง นับแต่วันที่โจทก์รับหนังสือดังกล่าวคือวันที่ 27 ตุลาคม 2536 วันเริ่มต้นนับดอกเบี้ยจึงเป็นวันที่27 ตุลาคม 2536 หาใช่นับแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2536 ซึ่งเป็นวันที่ลงในหนังสือเอกสารหมาย ล.25 ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ สำหรับอัตราดอกเบี้ยในจำนวนเงินค่าทดแทนที่โจทก์จะได้รับก็จะต้องเป็นดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงเป็นคราว ๆ ไป แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่าอัตราที่โจทก์ขอมาโดยโจทก์ไม่ต้องนำสืบในเรื่องอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินว่ามีอัตราเท่าใดเพราะเป็นกรณีที่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสามในปัญหานี้ฟังขึ้นบางส่วนเช่นกัน
อนึ่ง ยังไม่ปรากฏชัดว่าฝ่ายจำเลยได้จ่ายเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กำหนดกับดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ไปแล้วหรือไม่ ในชั้นนี้จึงยังไม่นำเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กำหนดกับดอกเบี้ยมาหักออก แต่หากมีการจ่ายเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กำหนดกับดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ไปแล้วก็ต้องนำมาหักกันในชั้นบังคับคดี
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์จำนวน 2,780,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share