คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2370/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเมื่อนายจ้างตกลงเปิดงาน กำหนดว่านายจ้างจะให้ประโยชน์ ค่าจ้างและสวัสดิการแก่ ลูกจ้างที่กลับเข้าทำงานเช่นที่ลูกจ้างเคยได้รับ ไม่มีข้อใดให้อำนาจนายจ้างที่จะยังไม่ให้ลูกจ้างบางส่วนเข้าทำงาน นายจ้างจึงไม่มีอำนาจที่จะไม่ให้ประโยชน์ดังกล่าว แก่ลูกจ้างที่ได้รายงานตัวต่อนายจ้างเพื่อเข้าทำงานแล้วแต่ นายจ้างยังไม่เรียกเข้าทำงาน แม้โดยทั่วไปนายจ้างอาจจะไม่มอบงานให้ลูกจ้างทำได้เพราะไม่เป็นที่เสียหายแก่ ลูกจ้าง แต่นายจ้างหามีสิทธิที่จะยกเหตุที่ลูกจ้างไม่ ทำงานเพราะนายจ้างไม่มอบงานให้ทำมาปฏิเสธไม่ให้ ประโยชน์แก่ลูกจ้างได้ไม่นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าครองชีพ ให้แก่ลูกจ้างที่อยู่ระหว่างรอคำสั่งเรียกกลับเข้าทำงาน ด้วย และแม้นายจ้างจะมีอำนาจที่จะกำหนดเงื่อนไขในการ จ่ายค่าครองชีพแก่ลูกจ้างได้ก็ตามนายจ้างก็หามีอำนาจ กำหนดเงื่อนไขการจ่ายค่าครองชีพให้ขัดกับบันทึก ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวแล้วไม่
การที่ลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องและนายจ้างปิดงาน ถ้าต่างได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว หาอาจอ้างเป็นความผิดของฝ่ายใดไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยไม่จ่ายค่าครองชีพให้โจทก์ในระหว่างที่รอคำสั่งจำเลยเรียกโจทก์กลับเข้าทำงาน ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายค่าครองชีพดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เนื่องจากจำเลยได้ใช้สิทธิตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์หยุดกิจการโรงงานเป็นเวลา ๑ เดือนเศษ เมื่อจำเลยเปิดกิจการใหม่เครื่องจักรยังไม่สามารถทำงานได้เต็มกำลังและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตก็ไม่เพียงพอ การทำงานแบ่งเป็น ๓ กะจำเลยจึงมิได้ให้ลูกจ้างทุกคนเข้าทำงานพร้อมกัน จำเลตกลงจ่ายเงินช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ลูกจ้างเฉพาะที่ปฏิบัติงานเท่านั้น โจทก์ทั้งห้ายังมิได้ทำงานจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ที่ ๔ ไม่มาศาลในวันนัดพิจารณา ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะโจทก์ที่ ๔
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าครองชีพให้แก่โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๓ และโจทก์ที่ ๕
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เมื่อปรากฏว่าในเรื่องการเปิดงานของบริษัทจำเลย ผู้แทนจำเลยกับผู้แทนลูกจ้างได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกันไว้คือฉบับลงวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๒๔ สิทธิหน้าที่ของจำเลยกับลูกจ้างในการเปิดงานจึงต้องบังคับกันตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นที่กำหนดว่า จำเลยตกลงเปิดงานตามปกติตั้งแต่วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๔ เวลา ๗.๓๐ น. และจำเลยยืนยันจะให้ประโยชน์ค่าจ้าง สวัสดิการแก่ลูกจ้างที่เข้าทำงาน เช่นที่ลูกจ้างดังกล่าวเคยได้รับและเช่นที่จำเลยได้เคยประกาศไว้ ไม่มีข้อใดให้อำนาจจำเลยที่จะยังไม่ให้ลูกจ้างบางส่วนเข้าทำงานและมิได้หมายความว่าจำเลยมีอำนาจที่จะไม่ให้ประโยชน์ ค่าจ้าง และสวัสดิการแก่ลูกจ้างที่จำเลยยังไม่เรียกเข้าทำงาน แม้โดยอำนาจทั่วไปของนายจ้างจำเลยอาจจะไม่มอบงานให้ลูกจ้างทำได้เพราะไม่เป็นที่เสียหายแก่ลูกจ้าง แต่จำเลยหามีสิทธิที่จะยกเหตุที่ลูกจ้างไม่ทำงานเพราะจำเลยไม่มอบงานให้ทำมาปฏิเสธไม่ให้ประโยชน์ค่าจ้าง หรือสวัสดิการแก่ลูกจ้างไม่ ฉะนั้น การที่จำเลยออกหนังสือฉบับลงวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๔ กำหนดว่า ลูกจ้างที่ยังมิได้ปฏิบัติงานจำเลยจะจ่ายค่าครองชีพให้ตั้งแต่ลูกจ้างเริ่มปฏิบัติงานตามปกติเป็นต้นไป แล้วจำเลยไม่จ่ายค่าครองชีพในระหว่างรอคำสั่งเรียกเข้าทำงานให้แก่โจทก์ซึ่งไปรายงานตัวตามกำหนดและพร้อมที่จะทำงานจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างลงวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๒๕ จำเลยไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ ที่จำเลยอุทธรณ์อ้างว่า จำเลยมีอำนาจตามหนังสือคู่มือพนักงานที่จะกำหนดเงื่อนไขการจ่ายค่าครองชีพแก่ลูกจ้างได้นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยได้อาศัยหนังสือคู่มือพนักงานกำหนดให้จ่ายค่าครองชีพแก่ลูกจ้างแล้ว และในการเปิดงานจำเลยได้ตกลงตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างลงวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๒๔ แล้วจำเลยจึงหามีอำนาจตามหนังสือคู่มือพนักงานที่จะกำหนดเงื่อนไขการจ่ายค่าครองชีพให้ขัดกับบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวไม่ ที่จำเลยอ้างว่าการที่จำเลยมิได้เรียกโจทก์เข้าทำงานเพราะวัตถุดิบขาดแคลนและเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตไม่สามารถทำงานได้เต็มกำลังเป็นผลเนื่องมาจากการยื่นข้อเรียกร้องของฝ่ายโจทก์เองนั้นเห็นว่า การที่ลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องก็ดีและจำเลยปิดงานก็ดี ต่างได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายหาอาจอ้างเป็นความผิดของฝ่ายใดไม่ ครั้นหลังจากทั้งสองฝ่ายได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในการเปิดงานกันแล้ว โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๕ มิได้ปฏิบัติผิดข้อตกลงแต่อย่างใด จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะไม่จ่ายค่าครองชีพแก่โจทก์ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share