คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2314/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อบังคับของนายจ้างว่าด้วยกองทุนสำหรับจ่ายสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานได้กำหนดการคำนวณเงินสงเคราะห์ โดยถือหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการมาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวให้ตั้งเงินเดือนเดือนสุดท้ายเป็นเกณฑ์คำนวณ เมื่อลูกจ้างถูกลงโทษทางวินัยลดขั้นอัตราเงินเดือน แล้วถูกสั่งให้ออกจากงานฐานหย่อนความสามารถ เงินเดือนเดือนสุดท้ายของลูกจ้างที่นำมาเป็นฐานคำนวณจ่ายเงินสงเคราะห์ก็ต้องถือตามเงินเดือนที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับภายหลังลดขั้นอัตราเงินเดือนแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ เงินเดือนสุดท้าย ๓,๖๙๕ บาท ค่าครองชีพ ๓๐๐ บาท โจทก์ถูกสั่งให้ออกจากงาน จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ขาดไป ๑,๖๘๐ บาท และจ่ายเงินสงเคราะห์ขาดไป ๘,๙๖๐ บาท จึงขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ก่อนที่จำเลยจะให้โจทก์ออกจากงาน โจทก์กระทำผิดวินัยถูกลงโทษลดขั้นเงินเดือน ๑ ขั้น จากอัตราเงินเดือน ๓,๖๙๕ บาทเหลือเป็นอัตราเงินเดือน ๓,๔๑๕ บาท จำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์และค่าชดเชยให้โจทก์ถูกต้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน ๑,๖๘๐ บาทแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่าเงินเดือนเดือนสุดท้ายที่จะนำมาเป็นฐานในการคำนวณเงินสงเคราะห์ครั้งเดียวมีจำนวนเดือนละเท่าใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ซึ่งมีตำแหน่งเป็นพนักงานรักษารถถูกกล่าวหาว่าทำผิดวินัยฐานเสพสุราจนทำให้เกิดการขัดข้องหรือเสียหายแก่กิจการรถไฟ จำเลยตั้งกรรมการขึ้นเพื่อทำการสอบสวน ในที่สุดจำเลยได้มีคำสั่งลงโทษโจทก์โดยลดขั้นอัตราเงินเดือนตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๒๒ เป็นต้นไป คำสั่งนี้เป็นผลให้โจทก์ซึ่งรับเงินเดือนเดือนละ ๓,๖๙๕ บาท ต้องถูกลดลง ๑ ขั้น เหลือเดือนละ ๓,๔๑๕ บาท แต่ในระหว่างที่กรรมการของจำเลยทำการสอบสวนอยู่นั้นโจทก์ได้ลาป่วยเป็นเวลานานจนไม่มีสิทธิรับเงินเดือนระหว่างลา ตั้งแต่วันที่๑๐ มิถุนายน ๒๕๒๔ ถึงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๒๔ กรณีโจทก์ลาป่วยเป็นเวลานานดังกล่าวนี้ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นกับแพทย์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยมีความเห็นว่าควรให้โจทก์ออกจากงานฐานหย่อนความสามารถในร่างกายเพราะป่วย ซึ่งเมื่อได้มีคำสั่งลงโทษลดขั้นเงินเดือนโจทก์แล้วจำเลยจึงได้มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๒๔ ในคำสั่งดังกล่าวระบุว่าโจทก์ได้รับเงินเดือนเดือนละ ๓,๔๑๕ บาท พิเคราะห์แล้ว ตามข้อบังคับคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๔๑ ว่าด้วยกองทุนสำหรับจ่ายสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พนักงานและคนงานประจำของการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้รับเงินสงเคราะห์ตามสิทธิของตนที่มีอยู่ โดยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินสงเคราะห์ไว้ในการคำนวณเงินสงเคราะห์ตามข้อบังคับดังกล่าวได้กำหนดให้นำพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการมาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญนั้น การคำนวณเงินบำเหน็จบำนาญให้ตั้งเงินเดือนเดือนสุดท้ายเป็นเกณฑ์คำนวณ ในการคำนวณเงินสงเคราะห์ครั้งเดียวก็เช่นเดียวกัน เมื่อโจทก์ถูกลงโทษทางวินัยลดขั้นอัตราเงินเดือนแล้ว การลงโทษย่อมมีผลนับตั้งแต่วันที่ออกคำสั่ง คือวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๒๔ จึงต้องถือว่าเงินเดือนโจทก์ถูกลดลงตั้งแต่วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๒๔ ฉะนั้นเงินเดือนเดือนสุดท้ายของโจทก์ที่จะนำมาเป็นฐานคำนวณจ่ายเงินสงเคราะห์ครั้งเดียวต้องถือตามเงินเดือนที่โจทก์มีสิทธิได้รับภายหลังลดแล้วคือ ๓,๔๑๕ บาท ทั้งภายหลังที่มีคำสั่งลดขั้นเงินเดือนแล้ว จำเลยยังได้มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานฐานหย่อนความสามารถ ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๒๔ ตามคำสั่งดังกล่าวก็ระบุด้วยว่าโจทก์ได้รับเงินเดือน (ขณะออกจากงาน) ๓,๔๑๕ บาท เมื่อรูปคดีฟังได้เช่นนี้ ปัญหาว่าการคำนวณจ่ายเงินสงเคราะห์ครั้งเดียวฐานในการคำนวณจะคิดอย่างเดียวกับค่าชดเชยหรือไม่ ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย คำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share