แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้นและผ่านขั้นตอนเจรจาแล้วไม่เป็นผล สหภาพแรงงานย่อมมีสิทธิที่จะเลือกปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ มาตรา 99 ไม่มีกฎหมายอนุญาตให้สหภาพแรงงานออกหนังสือเวียนแจ้งให้ลูกค้าของนายจ้างทราบถึงเหตุการณ์ในอนาคตที่สหภาพแรงงานอ้างว่าจะเกิดขึ้นโดยการกระทำของตนเองจนเป็นเหตุให้ลูกค้าของนายจ้างงดใช้หรือเกิดความลังเลที่จะใช้บริการของนายจ้างอันเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย เมื่อคณะกรรมการลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการบริหารของสหภาพแรงงานออกหนังสือดังกล่าว จึงถือได้ว่าจงใจทำให้นายจ้างเสียหาย นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า นายวิไลกับพวกได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการลูกจ้าง และเป็นกรรมการบริหารงานของสหภาพแรงงานโรงแรมผู้ร้อง นายวิไลกับพวกได้ร่วมกันออกหนังสือเวียนไปยังบริษัททัวร์ลูกค้าของผู้ร้องหลายแห่ง ซึ่งเป็นผู้จัดหานักทัศนาจรให้มาพักในโรงแรมของผู้ร้อง ทำให้บริษัททัวร์ต่าง ๆ ไม่นำนักท่องเที่ยวมาพักในโรงแรม เป็นการจงใจทำให้ผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างเสียหาย และเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องจึงมีความจำเป็นต้องเลิกจ้าง ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างนายวิไลกับพวกโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
คณะกรรมการลูกจ้างยื่นคำคัดค้านว่า มีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้นระหว่างสหภาพแรงงานซึ่งมีผู้คัดค้านเป็นกรรมการ กับผู้ร้อง และเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ผู้คัดค้านประชุมหารือกันและมีมติว่าควรให้มีการนัดหยุดงานหรือเฉื่อยงาน แต่การกระทำดังนี้อาจทำให้ผู้เข้ามาพักในโรงแรมเข้าใจว่าผู้ร้องมีบริการไม่ดีซึ่งจะมีผลเสียต่อชื่อเสียงของผู้ร้องได้ จึงได้ออกหนังสือไปถึงบริษัททัวร์ต่าง ๆ ชี้แจงให้ทราบล่วงหน้าว่าจะมีเหตุการณ์ทำให้ผู้ที่เข้ามาพักได้รับบริการที่ไม่สะดวก การออกหนังสือนี้ไม่ใช่เป็นการจงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายแต่เพื่อบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ ๔, ๘ และที่ ๑๑ ไม่ได้ร่วมประชุมในการออกหนังสือตามฟ้อง ข้อความในหนังสือตามฟ้องยังไม่เพียงพอที่จะฟังว่าผู้คัดค้านจงใจที่จะทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย แต่การที่ผู้คัดค้านออกหนังสือนี้ทำให้ผู้ร้องขาดรายได้ไปจำนวนหนึ่ง ชอบที่จะลงโทษทางวินัยได้ตามข้อบังคับของผู้ร้อง แต่โทษที่จะลงต้องไม่ถึงขั้นเลิกจ้าง มีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องเฉพาะที่เกี่ยวกับผู้คัดค้านที่ ๔, ๘ และที่ ๑๑ ผู้คัดค้านอื่นอนุญาตให้ลงโทษทางวินัยได้ตามที่ผู้ร้องเห็นสมควรทุกสถาน เว้นแต่การเลิกจ้าง
ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ ๑, ที่ ๒, ที่ ๓, ที่ ๕, ที่ ๖, ที่ ๗, ที่ ๙ และที่ ๑๐ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา แล้วผู้ร้องขอถอนอุทธรณ์เกี่ยวกับผู้คัดค้านที่ ๔ ที่ ๘ และที่ ๑๑ ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านมีหนังสือไปยังบริษัททัวร์ต่าง ๆมีข้อความว่า “ด้วยขณะนี้สหภาพแรงงานโรงแรมนารายณ์และพนักงานกำลังมีปัญหาข้อขัดแย้งบางประการกับฝ่ายบริหารของโรงแรม ซึ่งยังไม่สามารถตกลงกันได้ การขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้อาจจะต้องกระทบกระเทือนต่อลูกทัวร์ของท่านที่กำลังมาใช้บริการอยู่ในโรงแรมของเรา กล่าวคือในโอกาสอันใกล้นี้สหภาพฯ และพนักงานมีความจำเป็นที่จะต้องเฉื่อยงานหรืออาจหยุดงานทางด้านบริการซึ่งเป็นการต่อรองเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรม
ฉะนั้น สหภาพแรงงานโรงแรมนายรายณ์จึงขอเรียนให้ท่านโปรดกรุณาชี้แจงให้ลูกทัวร์ของท่านทราบด้วย เมื่อปัญหาได้ถูกคลี่คลายไปในทางที่ดีแล้วพวกเราจะบริการต่อลูกทัวร์ของท่านให้ดีที่สุด…”
ก่อนออกหนังสือนี้ผู้คัดค้านมีข้อขัดแย้งในปัญหาแรงงานกับผู้ร้อง พนักงานประนอมข้อพิพาทไกล่เกลี่ยแล้วตกลงกันไม่ได้ ผู้คัดค้านจึงประชุมกันลงมติให้ออกหนังสือนี้ข้อความในหนังสือตอนหนึ่งมีว่า “ซึ่งเป็นการต่อรองให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรม” มีความหมายชัดเจนอยู่ในตัวว่า เป็นการกระทำเพื่อต่อรองกับผู้ร้อง ไม่อาจแปลได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้ร้อง การต่อรองดังกล่าวมีความหมายว่า เมื่อผู้ร้องเกรงว่าจะเกิดความเสียหายจากการที่บริษัททัวร์ต่าง ๆ ไม่ส่งลูกทัวร์มาพักในโรงแรมของผู้ร้องผู้ร้องคงจะยินยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของผู้คัดค้าน การกระทำของผู้คัดค้านจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาจะบีบบังคับให้ผู้ร้องจำยอมปฏิบัติตามความประสงค์ของตน นอกจากนี้การที่ผู้คัดค้านออกหนังสือดังกล่าวไปยังลูกค้าของผู้ร้องว่า”จำเป็นที่จะต้องเฉื่อยงาน หรืออาจต้องหยุดงานทางด้านบริการ” นั้น ผู้คัดค้านย่อมประสงค์ต่อผลหรืออาจเล็งเห็นผลได้ว่า ลูกค้าของผู้ร้องจะต้องงดหรือลดการพักในโรงแรมของผู้ร้อง ซึ่งทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายคือขาดรายได้อันเป็นข้อต่อรองสำหรับผู้คัดค้านนั่นเองเมื่อมีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้นและผ่านขั้นตอนเจรจาแล้วไม่เป็นผลสหภาพแรงงานย่อมมีสิทธิที่จะเลือกปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯมาตรา ๙๙(๒) หรือ (๓) แต่ไม่มีกฎหมายอนุญาตให้ผู้คัดค้านออกหนังสือเวียนแจ้งให้ลูกค้าของนายจ้างทราบถึงเหตุการณ์ในอนาคตที่ผู้คัดค้านอ้างว่าจะเกิดขึ้นโดยการกระทำของผู้คัดค้านเอง จนเป็นเหตุให้ลูกค้าของนายจ้างงดใช้หรือเกิดความลังเลที่จะใช้บริการของนายจ้างอันเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย พฤติการณ์เช่นนี้เพียงพอที่จะถือได้แล้วว่าผู้คัดค้านจงใจทำให้ผู้ร้องเสียหาย ผู้ร้องจึงมีสิทธิเลิกจ้างผู้คัดค้านซึ่งกระทำโดยจงใจให้ผู้ร้องเสียหายได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ ๔๗(๒)
เมื่อคดีฟังได้ว่า ผู้คัดค้านทุกคนเว้นแต่ผู้คัดค้านที่ ๔ ที่ ๘ และที่ ๑๑ จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายโดยไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้คัดค้านเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของผู้ร้องด้วยหรือไม่แล้ว โทษที่จะลงแก่ผู้คัดค้านจึงมีได้เพียงประการเดียวคือการเลิกจ้างเท่านั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านที่ ๑, ๒, ๓, ๕, ๖, ๗, ๙ และ ๑๐ ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง