แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คุ้มครองแรงงาน ซึ่งออกตามอำนาจตามความในข้อ 2 และข้อ 14 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 หมวด 5 กำหนดอัตราค่าชดเชยซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างประจำที่เลิกจ้าง และประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวข้อ 13 วรรคสองระบุว่า “ผู้ใดมีสิทธิได้รับเงินทดแทน ค่าจ้างหรือเงินอื่นจากนายจ้างตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2501 ให้คงรับต่อไป” ดังนั้นการที่โจทก์ในฐานะลูกจ้างและจำเลยในฐานะนายจ้างได้ตกลงกำหนดจำนวนเงินค่าทำงานล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวนหนึ่ง โดยโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องเงินอื่นใดจากจำเลยอันหมายถึงเงินค่าชดเชยและเงินค่าครองชีพนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นการตกลงที่ผิดแผกแตกต่างกับบทบัญญัติของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้น เพื่อยังให้เกิดความเป็นธรรมและความสงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง อันถือเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลยดังกล่าว ซึ่งมีการตกลงผิดแผกแตกต่างจากบทกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 114
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๑๙ โจทก์ทั้งห้าได้ถูกเลิกจ้างเพราะจำเลยตกลงขายรถโดยสารประจำทางให้แก่บริษัทมหานครขนส่ง จำกัด ตามนโยบายรวมรถโดยสารประจำทางในส่วนกลางของทางราชการ โจทก์ทั้งห้าเป็นพนักงานขับรถยนต์โดยสารประจำทาง และปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นพนักงานของจำเลยที่ ๑ โดยความควบคุมดูแลบริหารงานตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ ๒ ในฐานะที่เป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ ๒ ได้ตกลงโอนขายกิจการขนส่งคนโดยสารพร้อมกับรถยนต์โดยสารประจำทางทั้งหมดให้แก่บริษัทมหานครขนส่งจำกัด โดยจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินจำนวนหนึ่ง จำเลยทั้งสองจึงต้องมีหน้าที่จ่ายเงินค่าครองชีพ และค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งห้า ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๓ ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๑๕ และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ที่เกี่ยวข้อง จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าครองชีพให้แก่โจทก์ทั้งห้าคนละ ๓๐๐ บาทต่อเดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๑๘ ถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๙ เป็นเวลา ๑๐ เดือน คิดเป็นเงินคนละ ๓,๐๐๐ บาท จำเลยทั้งสองได้รับเงินจำนวนนี้จากบริษัทมหานครขนส่งจำกัด เพื่อจ่ายให้แก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมจัดการจ่ายให้แก่โจทก์ตามหน้าที่ นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังมีหน้าที่จะต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งห้าตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๓ ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๑๕ ด้วย โจทก์ทวงถามจำเลยแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้ศาลพิพากษาบังคับ
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้การว่า โจทก์ทั้งห้าไม่ใช่พนักงานขับรถของจำเลย แต่เป็นพนักงานขับรถร่วมของบริษัทขนส่ง จำกัด ซึ่งไม่มีการจ่ายเงินค่าครองชีพที่โจทก์รับเงินค่าครองชีพมาแล้วหนึ่งเดือน เป็นการจ่ายเงินผิดประเภทและขัดกับมติของคณะกรรมการบริษัท จำเลยจะได้จัดการเรียกคืนจากโจทก์ต่อไป และปรากฏว่าโจทก์ทั้งห้าได้ถูกจำเลยปลดออกจากงาน โดยมีความผิดฐานขาดงานหรือทิ้งงานเป็นเวลาติดต่อกันถึง ๑๕ วัน เป็นการฝ่าฝืนระเบียบคำสั่งของบริษัท ทำให้หมดสิทธิรับเงินชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยข้อ ๔๗(๔) ลงวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๑๖ และปรากฏว่า จำเลยยังไม่ได้โอนขายกิจการให้แก่ผู้ใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับเงินค่าชดเชยจากจำเลย นอกจากนี้ปรากฏว่า โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นการระงับข้อพิพาทไปแล้วว่า “ข้าพเจ้าไม่ติดใจเรียกร้องเงินค่าทำงานล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่ารักษาพยาบาล และเงินอื่นใดจากบริษัทอีกต่อไปว่าด้วยวิธีใดทั้งสิ้น” โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินใด ๆ จากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทขนส่ง จำกัด และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและให้เรียกบริษัทขนส่ง จำกัด ว่าจำเลยที่ ๓ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพว่าจำเลยที่ ๔
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ได้ตกลงให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นผู้ใช้รถยนต์เข้าวิ่งรับส่งผู้โดยสารในเส้นทาง ๓๐, ๓๑ และ ๕๑ โดยจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นผู้จัดหาพนักงานประจำรถและเสียค่าจ้าง เงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงแก่พนักงานประจำรถ โจทก์และเจ้าพนักงานประจำรถในเส้นทางดังกล่าวจึงเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ คดีพิพาทเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๓ จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าครองชีพและค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งห้า ขอให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ ๓
จำเลยที่ ๔ ให้การว่า ไม่เคยรับโอนกิจการขนส่ง กิจการเดินรถจากจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และไม่ได้รับโอนโจทก์ทั้งห้าเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๔ ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ทั้งห้า จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าครองชีพหรือค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งห้า
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยที่ ๑ เป็นโมฆะ โจทก์มีสิทธิรับเงินตามฟ้องจากจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ส่วนจำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัว และจำเลยที่ ๓ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ร่วมกันชำระเงินตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓
จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้ว เห็นว่าจำเลยที่ ๔ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๔ ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า สัญญาประนีประนอมยอมความตามคำให้การของจำเลยที่ ๑ มีผลบังคับตามกฎหมายหรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หลักฐานการระงับข้อพิพาท และใบรับเงินอันถือเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความรวม ๕ ฉบับ ข้อ ๓ มีข้อความว่า “ข้าพเจ้าไม่ติดใจเรียกร้องค่าทำงานล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่ารักษาพยาบาล และเงินอื่นใดจากบริษัทอีกต่อไป ไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ ทั้งสิ้น” แต่ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๓ ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๑๕ ข้อ ๒ กำหนดให้กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจกำหนดการคุ้มครองแรงงานเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีที่มีการเลิกจ้าง และมีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คุ้มครองแรงงาน ซึ่งออกตามอำนาจตามความในข้อ ๒ และข้อ ๑๔ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวหมวด ๕ กำหนดอัตราค่าชดเชยซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างประจำที่เลิกจ้าง และประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวข้อ ๑๓ วรรคสองระบุว่า “ผู้ใดมีสิทธิรับเงินทดแทน ค่าจ้างหรือเงินอื่นจากนายจ้างตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙ ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๐๑ ให้คงรับต่อไป”ดังนั้นการที่โจทก์ในฐานะลูกจ้าง และจำเลยในฐานะนายจ้างได้ตกลงกำหนดจำนวนเงินค่าทำงานล่วงเวลาค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวนหนึ่ง โดยโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องเงินอื่นใดจากจำเลยอันหมายถึงเงินค่าชดเชยและเงินค่าครองชีพนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่ผิดแผกแตกต่างกับบทบัญญัติของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๓ ซึ่งมีคำปรารภอันแสดงถึงเจตนารมณ์ที่ฝ่ายบริหารได้พิจารณาออกกฎหมายฉบับนี้ว่า “โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่า การให้ความคุ้มครองแรงงานแก่ลูกจ้างและการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสร้างสรรความเจริญก้าวหน้าของประเทศ สมควรปรับปรุงส่งเสริมให้สอดคล้องกับการพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจสังคมและการเมืองของประเทศ เพื่อให้การใช้แรงงานเป็นไปโดยเหมาะสม และการแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้เป็นไปโดยวิธีปรองดอง และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายฯลฯ” ดังนั้นประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวจึงเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อยังให้เกิดความเป็นธรรมและความสงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมืองอันถือเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยดังกล่าว ซึ่งมีการตกลงผิดแผกแตกต่างจากบทกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๔
พิพากษายืน