แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เดิมจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างมีคำสั่งยุบตำแหน่งที่โจทก์ดำรงอยู่ ให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งและส่งมอบงานก่อนวันพ้นจากตำแหน่ง ต่อมาปรากฏว่าโจทก์ไม่ส่งมอบงานภายในกำหนดอันเป็นการขัดคำสั่งหรือหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา จำเลยมีสิทธิแก้ไขคำสั่งเดิมเป็นให้ปลดโจทก์ออกจากงานเพราะฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงได้ ดังนั้นจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำโดยไม่เป็นธรรมและเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนเงินบำเหน็จ ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมทั้งดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งเก้าให้การว่า จำเลยมีมติยุบตำแหน่งซึ่งโจทก์ดำรงอยู่เพราะไม่จำเป็นและงานน้อย การเลิกจ้างและยุบตำแหน่งไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและเงินบำเหน็จเพราะโจทก์ไม่ส่งมอบงานให้จำเลยเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเป็นการร้ายแรง จำเลยจึงมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงาน จำเลยมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาได้โดยการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยและเงินบำเหน็จพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า เดิมจำเลยที่ 1 มีคำสั่งลงวันที่ 31 สิงหาคม 2524 ให้ยุบตำแหน่งเจ้าหน้าที่กฎหมายอันเป็นตำแหน่งที่โจทก์ดำรงอยู่ ให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2524 โดยให้โจทก์มอบงานให้นางสาวเชาวนี เปล่งวิทยา ภายในวันที่ 30 กันยายน 2524 ต่อมาจำเลยมีคำสั่งลงวันที่ 24 เมษายน 2525 ให้ปลดโจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2524เนื่องจากโจทก์ไม่ส่งมอบงานภายในกำหนด เป็นการขัดคำสั่งหรือหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาปัญหาว่า จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้ปลดโจทก์ออกจากงานได้หรือไม่ เห็นว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 ออกคำสั่งให้ปลดโจทก์ออกจากงานแม้จะเป็นเวลาภายหลังที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่ง แต่กรณีที่เป็นมูลเหตุให้ออกคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานนั้นอยู่ในระยะเวลาที่ยังไม่ได้เลิกจ้าง จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิแก้ไขคำสั่งเดิมได้เพราะไม่มีกฎหมายห้ามเมื่อการกระทำของโจทก์เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2523จำเลยที่ 1 มีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานได้ตามข้อบังคับดังกล่าว การกระทำผิดของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47(3) ส่วนเงินบำเหน็จนั้น ตามข้อบังคับจำเลยที่ 1 ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 กำหนดว่าพนักงานที่ถูกลงโทษปลดออกจากงานไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ จำเลยที่ 1 มีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับดังกล่าว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าชดเชยและเงินบำเหน็จเสียด้วย